ธุรกิจ

ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจ

ทั้งหมด

บัญชี

ภาษี

ธุรกิจ

การใช้งานโปรแกรม

ข่าวสาร

หน้าหลัก>คลังความรู้>ธุรกิจ

9 ต.ค. 2022

PEAK Account

16 min

ต้นทุนแฝง (Hidden Cost) เรื่องสำคัญที่กิจการไม่ควรละเลย

ต้นทุนแฝงถือเป็นภัยเงียบของการทำธุรกิจซึ่งหลายกิจการไม่ได้ให้ความสำคัญหรือหาแนวทางแก้ไขอย่างจริงจัง PEAK จึงขอพาผู้ประกอบการมารู้จักและทำความเข้าใจต้นทุนแฝงในบทความนี้ ต้นทุนของกิจการมีอะไรบ้าง ก่อนอื่นเรามาทบทวนต้นทุนของกิจการกันก่อนว่ามีอะไรบ้าง  ต้นทุนของกิจการหรือต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจ  ถ้าพิจารณาจากงบกำไรขาดทุนของกิจการ ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย  1. ต้นทุนขาย เป็นต้นทุนที่ทำให้สินค้าอยู่ในสภาพที่พร้อมขาย หรือ ต้นทุนบริการ ซึ่งเป็นต้นทุนสำหรับการให้บริการตามที่มีการตกลงกับลูกค้าไว้  2. ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร ค่าใช้จ่ายในการขายเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อให้ขายสินค้าได้ ได้แก่ ค่านายหน้า ค่าโฆษณา ค่าประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ส่วนค่าใช้จ่ายบริหารเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อให้กิจการดำเนินธุรกิจได้ ได้แก่ เงินเดือนพนักงาน ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าเช่าอาคาร เป็นต้น หรือ ถ้าจะมองต้นทุนของกิจการโดยพิจารณาตามโครงสร้างต้นทุน จะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท 1. ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) เป็นต้นทุนที่ต้องจ่าย เป็นมูลค่าคงที่เป็นประจำ และเกิดขึ้นไม่ว่าธุรกิจจะมีการผลิตสินค้าหรือไม่ก็ตาม หรือไม่ว่าธุรกิจจะมีผลประกอบการขาดทุนหรือได้กำไร ได้แก่ เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่า เป็นต้น 2. ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) เป็นต้นทุนที่มีราคาเปลี่ยนแปลง แปรผันไปตามปริมาณการผลิต หรือปริมาณการขาย ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง เป็นต้น ต้นทุนแฝงคืออะไร ต้นทุนแฝง (Implicit Cost) หมายถึง ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการใช้ปัจจัยการผลิต ได้แก่ แรงงาน เครื่องมือเครื่องจักร เป็นต้น แต่จากการใช้ไปของปัจจัยการผลิตนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลตอบแทนกลับมาแก่กิจการ หรือผลตอบแทนที่กลับมาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น  ต้นทุนแฝงจึงเป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการมองข้ามหรือมองไม่เห็น (Hidden Cost) และในการบันทึกรายการทางบัญชีไม่ได้นำมารวมเป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ประเภทของต้นทุนแฝง ต้นทุนแฝงของกิจการเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบดังต่อไปนี้ 1. ต้นทุนแฝงในรูปของค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ได้แก่ ค่าใช้จ่ายจำนวนเล็กๆ น้อยๆ เช่น ค่ากระดาษ ค่าหมึกพิมพ์ ค่าคลิปหนีบกระดาษ ค่าลวดเย็บเอกสาร เป็นต้น 2. ต้นทุนแฝงจากการติดต่อสื่อสาร ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารและการเดินทาง เช่น ค่าบริการโทรศัพท์ ค่าบริการอินเทอร์เน็ต ค่าเดินทางไปพบลูกค้า ค่าเดินทางในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตสินค้า ค่าเดินทางเพื่อซื้อสินค้าเข้าร้านเป็นต้น 3. ต้นทุนแฝงในรูปของเวลา ได้แก่ การสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นของกิจการจากเวลาที่สูญเสียไป ทำให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การรอวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต ทำให้พนักงานแผนกผลิตว่างงาน เนื่องจากต้องใช้เวลารอวัตถุดิบมาถึงก่อนจึงจะทำการผลิตสินค้าต่อได้  การรอการอนุมัติจากผู้บริหารในการลงนามในเอกสาร การรอการตัดสินใจจากผู้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น การรอเหล่านี้จะทำให้เกิดการเสียโอกาสในการใช้เวลาเพื่อดำเนินการในส่วนที่จะช่วยสร้างมูลค่าหรือรายได้ของกิจการ 4. ต้นทุนแฝงในรูปของสินค้าคงคลัง สำหรับกิจการผลิต มีโอกาสเกิดต้นทุนแฝงจากสินค้าคงคลังซึ่งมีมูลค่าสูง ได้แก่ – การเกิดสินค้าล้าสมัย ได้แก่ การที่กิจการมีสินค้าคงคลังในปริมาณมากและสินค้ามีการตกรุ่นทำให้สินค้าขายไม่ออก หรือต้องลดราคาขายลง – การสั่งซื้อวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก เพราะต้องการส่วนลดในการสั่งซื้อ หรือกิจการไม่มีการวางแผนการผลิตทำให้วัตถุดิบล้นสต็อก จนเกิดของเสียหรือเสื่อมสภาพ – ปริมาณสินค้าคงเหลือที่ไม่พอเหมาะ ทำให้สินค้าขาด/เกิน เช่น กิจการร้านอาหารสั่งวัตถุดิบมาสต็อกไว้ในปริมาณที่มากเกินไป จนวัตถุดิบเหลือและเกิดการเน่าเสีย หรือการสั่งซื้อวัตถุดิบมาในปริมาณน้อยเกินไปทำให้เสียโอกาสในการขาย – การจัดซื้อวัตถุดิบคุณภาพดีเกินความจำเป็น ในบางกิจการ ผู้ประกอบการให้ความใส่ใจคัดสรรเลือกซื้อวัตถุดิบที่ดีสำหรับลูกค้า ซึ่งทำให้ต้นทุนสินค้าสูงและราคาขายสูงตามไปด้วย ซึ่งลูกค้าไม่ได้ต้องการสินค้าคุณภาพสูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการลงทุนไปกับวัตถุดิบที่ดีเกินความจำเป็น 5. ต้นทุนแฝงจากการเปลี่ยนพนักงานบ่อยๆ การเปลี่ยนพนักงานบ่อยทำให้ต้องมีการสอนงานและฝึกอบรมพนักงานใหม่ เกิดค่าเสียโอกาสในการใช้เวลาสอนงานแทนที่จะใช้เวลาไปทำงานที่สร้างมูลค่าให้แก่องค์กร และพนักงานใหม่ยังไม่สามารถสร้างมูลค่าให้กับกิจการจนกว่าจะทำงานเป็น ต้นทุนแฝง สิ่งที่กิจการควรระวัง ตันทุนแฝงเป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ถูกมองข้าม ซึ่งต้นทุนแฝงจะส่งผลเสียต่อกิจการดังต่อไปนี้ 1. ต้นทุนแฝงจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมา เช่น ต้นทุนแฝงจากสินค้าล้าสมัย ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้าและค่าจ้างพนักงานดูแลสินค้าเพิ่มขึ้น เป็นต้น 2. ต้นทุนแฝงทำให้ผลกำไรของกิจการลดลง หรืออาจมีผลขาดทุนได้ 3. ต้นทุนแฝงทำให้เกิดค่าเสียโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่กิจการ 4. ต้นทุนแฝงทำให้การจัดการทรัพยากรขององค์กรไม่มีประสิทธิภาพ 5. ต้นทุนแฝงถือเป็นรูรั่วของธุรกิจ เป็นโอกาสที่อาจทำให้เกิดการทุจริตในองค์กรได้ การลดต้นทุนแฝงทำอย่างไร 1. การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินงาน การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย ได้แก่  1.1 การนำระบบ e-Procurement ซึ่งเป็นกระบวนการจัดซื้อทางออนไลน์ที่ประสานการทำงานระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และเป็นช่องทางการสื่อสารที่มีความปลอดภัยสูงมาใช้ในการจัดซื้อ ซึ่งจะช่วยให้กิจการลดค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบการสามารถวางแผน วิเคราะห์คัดเลือก Supplier การเปรียบเทียบราคา ลดการเกิด Human Error และช่วยลดการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อ ช่วยลดการใช้กระดาษ มีความถูกต้อง สามารถติดตามตรวจสอบการสั่งซื้อภายหลังได้  1.2 การนำระบบ MRP (Material Requisition Planning) มาใช้ในกิจการผลิต MRP เป็นระบบที่ใช้ในการบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อการจัดการและวางแผนความต้องการวัตถุดิบของกิจการ ซึ่งจะช่วยควบคุมแผนการสั่งซื้อ การส่งมอบสินค้า การจัดการสินค้าคงคลังและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต  2. การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง ได้แก่  2.1 การบริหารจัดการคลังสินค้าวัตถุดิบ คลังสินค้าสำเร็จรูป คลังอะไหล่ โดยนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการควบคุม สามารถตรวจสอบกับปริมาณสินค้าคงเหลือที่มีอยู่จริงได้ รวมทั้งการจัดทำเอกสารในระบบคลังสินค้าให้เป็นระบบเดียวกัน ไปจนถีงความสามารถในการตรวจสอบปริมาณสินค้าคงเหลือได้ในระบบเรียลไทม์  2.2 การบริหารจัดการ Dead Stock (สินค้าคงเหลือที่ค้างในสต็อกเป็นเวลานาน ไม่มีการเคลื่อนไหว) เพื่อลดปริมาณสินค้าคงเหลือให้เหมาะสม เพิ่มพื้นที่ในการเก็บสินค้า  2.3 การลดของเสีย โดยใช้แนวทางดังต่อไปนี้ ก. การควบคุมคุณภาพ (Quality Control หรือ QC) เป็นการควบคุมคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าสูงสุด โดยใช้กระบวนการ Inspection ซึ่งเป็นการตรวจสอบจุดบกพร่องของผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปแก้ไขหรือคัดทิ้ง รวมทั้งการบันทึกและเก็บสถิติข้อมูลของจำนวนและลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่เกิดความบกพร่อง เพื่อนำไปวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาและปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ  ข. การตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ(Quality Assurance หรือ QA) เป็นการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพของสินค้า โดยเน้นการวางแผนในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อป้องกันสินค้าชำรุดหรือไม่ได้คุณภาพ ให้ได้สินค้าที่มีมาตรฐาน เป็นกระบวนการตรวจสอบเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าในทุกด้าน  ค. แนวคิด Zero Defect เป็นแนวคิดในการจัดการผลิตให้ของเสียเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นแนวคิดในการสร้างระบบโรงงานที่ดี ได้แก่ การใช้ระบบ Automation Design & System Integration ซึ่งเป็นการออกแบบและสร้างระบบการผลิตแบบอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นในการวางแผนการผลิตและมีต้นทุนต่ำ ซึ่งจะช่วยควบคุมคุณภาพการผลิตตั้งแต่การเริ่มจัดซื้อวัตถุดิบ การจ้างแรงงานผลิต จนถึงการส่งมอบสินค้า ซึ่งจะช่วยลดค่าเสียโอกาสจากสิ่งที่ผลิตเกินหรือขาด 3. การวางแผนการจัดการงบประมาณ เป็นการควบคุมการเกิดต้นทุนแฝงโดยใช้งบประมาณ โดยการวิเคราะห์ผลต่างของต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่   เกิดขึ้นจริงกับงบประมาณที่ตั้งไว้ เช่น การวิเคราะห์ผลต่างของราคาวัตถุดิบที่จ่ายซื้อกับที่ตั้งประมาณการไว้ เมื่อพบว่าราคาจ่ายซื้อวัตถุดิบสูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ จะได้ทำการเจรจาต่อรองราคากับผู้จำหน่ายวัตถุดิบเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง การวิเคราะห์งบประมาณจะทำให้ผู้ประกอบมองเห็นรายการค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสามารถควบคุมต้นทุนแฝงไม่ให้เกิดขึ้นได้ 4. การจัดทำรายงานทางบัญชี การจัดทำรายงานทางบัญชี ไม่ว่าจะเป็นรายงานงบการเงิน หรือรายงานเพื่อเสนอผู้บริหาร (Financial Management Report) จะช่วยเจ้าของกิจการในการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและต้นทุน ทำให้ทราบข้อมูลต้นทุนค่าใช้จ่ายครบถ้วนและถูกต้อง สามารถควบคุมต้นทุนแฝงไม่ให้เกิดขึ้นได้  ปัจจุบันมีโปรแกรมบัญชีออนไลน์อย่างโปรแกรม PEAK  ที่ช่วยผู้ประกอบการจัดการงานบัญชีแบบครบวงจร เป็นรายงานแบบ Real Time ที่สรุปผลประกอบการและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีรูปแบบรายงานแบบ Dashboard ช่วยเจ้าของกิจการในการวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องได้ทุกที่ทุกเวลา  จากแนวทางดังที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการ ทราบข้อมูลต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง สามารถควบคุมและจัดการต้นทุนแฝงไม่ให้เกิดขึ้นได้ ก่อให้เกิดผลประกอบการที่ดีแก่กิจการ   ติดตามความรู้ทางบัญชี ภาษี ได้ที่ บทความ – PEAK Blog (peakaccount.com)  ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชึ PEAK ได้ที่ สอบถามเพิ่มเติม คลิก อ้างอิง : ต้นทุนแฝง (Hidden Cost) คืออะไร | โปรซอฟท์ คอมเทค (prosoft.co.th) ต้นทุนแฝง คืออะไร? Implicit Cost มีอะไรบ้าง – GreedisGoods ต้นทุนแฝง (Hidden Cost) คืออะไร | Prosoft WINSpeed โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป

29 ส.ค. 2022

PEAK Account

23 min

ลูกหนี้ค้างชำระนาน ควรจัดการอย่างไร?

ในการขายสินค้า การให้เครดิตแก่ลูกค้าช่วยสร้างยอดขายให้กิจการเพิ่มขึ้น ในขณะที่ลูกค้าก็ได้รับสินค้าและได้รับเครดิตทำให้มีสภาพคล่อง มีเงินหมุนเวียนเพียงพอในการดำเนินกิจการ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้การดำเนินธุรกิจขาดสภาพคล่องอย่างมาก ลูกค้าไม่สามารถจ่ายชำระเงินได้ ผู้ขายไม่ได้รับการชำระเงินภายในระยะเวลาที่ตกลงให้เครดิตแก่ลูกค้า บางครั้งถูกยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไปเป็นเวลานาน กิจการจะมีแนวทางในการจัดการกับลูกหนี้ที่ค้างนานได้อย่างไรมาติดตามกันในบทความนี้ ลูกหนี้ค้างนานคืออะไร ลูกหนี้ค้างนาน หมายถึง ลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้เกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับเครดิตจากกิจการ ซึ่งโดยปกติลูกหนี้การค้าที่เกิดจากการดำเนินการค้าปกติของธุรกิจ โดยมีการให้เครดิตแก่ลูกค้าในการนำสินค้าไปใช้ก่อน แต่รับชำระเงินในภายหลัง ภายในระยะเวลาที่ตกลงกันเรียกว่า ระยะเวลาการให้เครดิตเทอม เช่น 15 วัน 30 วัน 45 วัน หลังจากวันส่งมอบสินค้า เป็นต้น ในการจัดการกับลูกหนี้ค้างนาน กิจการไม่ควรปล่อยปละละเลยให้มีลูกหนี้ค้างเป็นระยะเวลานานจนไม่สามารถจัดเก็บหนี้ หรือจนกระทั่งเกิดปัญหาหนี้สูญที่กิจการได้มีติดตามทวงถามจนถึงที่สุดแล้ว  แต่ไม่ได้รับชำระหนี้จนต้องตัดจำหน่ายออกจากบัญชี แนวทางการจัดการลูกหนี้ที่ค้างชำระเป็นเวลานาน  เมื่อกิจการมีลูกหนี้ที่ค้างชำระเป็นเวลานาน กิจการควรกำหนดแนวทางในการเรียกเก็บหนี้ ดังต่อไปนี้ 1. การรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลของลูกหนี้ เบื้องต้นกิจการควรรวบรวมข้อมูลของลูกหนี้รายที่ค้างชำระนาน ว่ามียอดค้างชำระเท่าไร ประกอบด้วยใบแจ้งหนี้ใดบ้าง ใบแจ้งหนี้เป็นหลักฐานในการเรียกเก็บค่าสินค้า ซึ่งมีข้อมูล ชื่อ ที่อยู่ของลูกหนี้ รายละเอียดและมูลค่าสินค้า เงื่อนไขในการชำระเงิน ระยะเวลาการให้เครดิต รวมถึงค่าปรับในกรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้ล่าช้า เช่น ค่าปรับอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี เป็นต้น กิจการควรตรวจสอบว่าเป็นใบแจ้งหนี้ที่ได้ส่งไปเรียกเก็บจากลูกหนี้แล้ว และควรตรวจสอบว่าลูกหนี้ได้รับสินค้าเรียบร้อยแล้วด้วย โดยพิจารณาจากใบส่งของซึ่งเป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่าลูกค้าได้รับสินค้าแล้ว และใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายในการอ้างอิงว่ามีการส่งสินค้าจริง ท่านสามารถศึกษาเรื่องใบแจ้งหนี้และใบส่งของได้จากลิงก์นี้ ตัวอย่างใบแจ้งหนี้และใบวางบิล ควรมีอะไรบ้าง (peakaccount.com) ใบส่งของสำคัญไฉน? (พร้อมดูตัวอย่างใบส่งของ) (peakaccount.com) 2. การติดตามทวงถามเบื้องต้นด้วยวาจา หลังจากรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลของลูกหนี้แล้ว กิจการควรติดต่อลูกหนี้รายที่มียอดคงเหลือค้างชำระ โดยกำหนดให้พนักงานผู้ดูแลจัดเก็บหนี้ติดตามลูกหนี้ด้วยการโทรติดต่อเพื่อสอบถามเกี่ยวกับกำหนดการชำระเงิน ซึ่งควรติดตามสอบถามด้วยความสุภาพ ในบางกรณีลูกหนี้อาจมิได้มีเจตนาในการหลบเลี่ยงการชำระหนี้ แต่เป็นไปได้ที่จะลืมชำระเมื่อถึงกำหนด การติดตามทวงถามเบื้องต้นทางวาจาก็อาจจะทำให้กิจการได้รับชำระหนี้ได้ 3.การเจรจาต่อรองขอรับชำระหนี้ เมื่อกิจการมีการติดตามทวงถามทางวาจาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการชำระหนี้ กิจการอาจใช้วิธีเจรจาต่อรองขอรับชำระหนี้จาก ลูกหนี้ โดยสอบถามในรายละเอียดถึงสาเหตุที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด ลูกหนี้เกิดการขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยลูกหนี้ไม่มีเงินหรือมีไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ กิจการสามารถใช้วิธีเจรจาต่อรอง เพื่อประนีประนอมกับลูกหนี้ เช่น การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การกำหนดแผนการชำระหนี้ใหม่ การยกเว้นค่าปรับหรือดอกเบี้ย เป็นต้น โดยถ้ามีการตกลงเงื่อนไขในการชำระหนี้ใหม่ที่แตกต่างจากเงื่อนไขเดิม กิจการควรจัดทำหนังสือรับสภาพหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ลงนามรับสภาพหนี้ และในกรณีที่ลูกหนี้มีข้อโต้แย้งว่าได้รับสินค้าไม่ครบถ้วนจึงยังไม่ชำระเงิน กิจการควรตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการส่งมอบสินค้าครบถ้วนหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้น กิจการควรควบคุมให้มีลูกค้าลงนามรับสินค้าทุกครั้งที่มีการรับของ ในเอกสารใบส่งของของกิจการดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น 4. การติดตามทวงถามเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อกิจการได้ดำเนินการเจราจาต่อรองขอรับชำระหนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระหนี้ กิจการควรจัดทำหนังสือทวงถามหนี้เป็น  ลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานว่ากิจการมีความพยายามในการติดตามหนี้จากลูกหนี้ และใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลในกรณีที่มีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น รวมทั้งเป็นหลักฐานทางภาษีในการจำหน่ายหนี้สูญทางบัญชี ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 374  (พ.ศ. 2564) ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 29 เมษายน 2564   ในการจัดทำหนังสือทวงถามหนี้ ควรระบุรายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของลูกหนี้ ระบุจำนวนเงินและเลขที่เอกสารใบแจ้งหนี้ ดอกเบี้ยผิดนัด ตอกเบี้ยการชำระหนี้ล่าช้าและ/หรือ ค่าปรับ การออกหนังสือทวงหนี้โดยทั่วไปจะระบุข้อความให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่กิจการทันที กิจการสามารถจัดทำหนังสือทวงถามหนี้มากกว่าหนึ่งครั้งได้ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงหนี้ดังกล่าว โดยฉบับแรกเป็นการตักเตือน ฉบับที่สองเป็นการคิดค่าปรับ จนถึงฉบับสุดท้ายเป็นการติดตามก่อนดำเนินการทางกฎหมายโดยการฟ้องศาล ซึ่งกิจการควรมีการอ้างถึงและควรแนบหนังสือทวงถามหนี้ฉบับล่าสุดก่อนหน้าไปพร้อมกันด้วย และในการส่งหนังสือทวงถามหนี้ กิจการควรส่งทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าเอกสารได้ถูกนำส่งถึงมือลูกหนี้และลูกหนี้ได้รับเอกสารเรียบร้อยแล้ว 5. การศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามทวงถามหนี้ กิจการควรศึกษาพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย โดยกิจการต้องปฏิบัติตามหน้าที่ วิธีการ รูปแบบ ลักษณะและข้อจำกัด ในการติดตามทวงถามหนี้ โดยในการทวงถามหนี้กฎหมายได้กำหนดแนวปฏิบัติในการทวงหนี้ไว้ดังนี้ 5.1  วิธีการติดต่อ โดยบุคคลหรือทางไปรษณีย์ 5.2  สถานที่ติดต่อ ถ้าลูกหนี้มิได้แจ้งไว้ ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของลูกหนี้ หรือตามที่คณะกรรมการทวงถามหนี้ประกาศกำหนด 5.3 เวลาในการติดต่อ กิจการสามารถทวงหนี้โดยใช้บุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ในระหว่างวันจันทร์ ถึง ศุกร์ เวลา 8.00 น.- 20.00 น. และวันหยุดราชการ เวลา 8.00 น.-18.00 น.  5.4 ความถี่ในการทวงหนี้ กิจการสามารถทวงหนี้ได้ไม่เกิน 1 ครั้งต่อวัน ซึ่งจะนับจำนวนครั้งในการทวงหนี้เมื่อลูกหนี้รับโทรศัพท์ หรืออ่านไลน์การทวง หรือรับทราบการทวงอย่างชัดเจน นอกจากนี้กฎหมายยังมีข้อกำหนดให้เจ้าหนี้ทวงถามหนี้อย่างสุภาพชน ละเว้นการประจานหรือดูหมิ่นให้ลูกหนี้เกิดความเสื่อมเสีย, ห้ามเจ้าหนี้ทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้ เว้นแต่เป็นบุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้, ห้ามเจ้าหนี้ใช้ข้อความข่มขู่ใช้ความรุนแรง หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นต้น 6. การใช้บริการมืออาชีพหรือทนายความในการติดตามทวงหนี้ ถ้ากิจการมีลูกหนี้เป็นจำนวนมาก เจ้าหนี้อาจจะจ้างบุคคลภายนอก ได้แก่ สำนักงานกฎหมาย สำนักงานทนายความ หรือ ธุรกิจที่ให้บริการทวงถามหนี้ เป็นต้น ซึ่งกิจการควรตรวจสอบว่าบุคคลภายนอกเหล่านี้เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับการจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย 7. การดำเนินคดีในทางศาล ถ้ากิจการในฐานะเจ้าหนี้ได้ดำเนินการมาทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระหนี้ สามารถดำเนินคดีในทางศาล แต่จะมีค่าใช้จ่ายและต้องใช้เวลาในการดำเนินการ  แนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลูกหนี้ค้างนาน กิจการสามารถดำเนินการโดยใช้ดังต่อไปนี้  1. การจัดทำรายงานการวิเคราะห์อายุลูกหนี้การค้า (Aging Analysis Report) รายงานการวิเคราะห์อายุลูกหนี้การค้า เป็นรายงานที่แบ่งช่วงอายุลูกหนี้ แสดงให้เห็นรายละเอียดของลูกหนี้แต่ละรายมีหนี้คงค้างเท่าไร ค้างชำระมาเป็นระยะเวลานานเท่าไรแล้ว โดยลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้เป็นเวลานาน ทำให้กิจการต้องทวงถามเป็นลำดับแรก ในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์อายุลูกหนี้ ประกอบด้วยข้อมูลวันที่ขายสินค้า และวันที่ครบกำหนดชำระ  โดยข้อมูลวันที่ขายสินค้าซึ่งส่วนใหญ่ยึดตามวันที่ใบแจ้งหนี้ ส่วนวันที่ครบกำหนดชำระเป็นไปตามเครดิตเทอม ซึ่งปกติจะระบุไว้ในใบแจ้งหนี้  2. การวิเคราะห์อายุลูกหนี้ แนวทางการวิเคราะห์อายุลูกหนี้จากรายงานการวิเคราะห์อายุลูกหนี้การค้าจะคำนวณวันที่ค้างชำระจาก วันที่ปัจจุบัน-วันที่ขายสินค้า ยกตัวอย่าง เช่น วันที่ปัจจุบัน เป็นวันที่ 31 ก.ค. 2565 วันที่ขายสินค้า เป็นวันที่  1 พ.ค. 2565 จำนวนวันที่ค้างชำระ = วันที่ปัจจุบัน-วันที่ขายสินค้า หมายถึง ตั้งแต่วันที่ปัจจุบันจนถึงวันที่ขายสินค้า เป็นเวลา 90 วัน แต่กิจการยังไม่ได้รับชำระหนี้ จากนั้นนำจำนวนวันที่ค้างชำระมาเปรียบเทียบกับเครดิตเทอมที่ลูกค้าได้รับ เช่น ลูกค้าได้รับเครดิตเทอม 30 วัน                       ดังนั้นลูกค้ารายนี้เกินกำหนดชำระเป็นเวลา เท่ากับ 90-30= 60 วัน เมื่อวิเคราะห์อายุลูหนี้เรียบร้อยแล้ว กิจการสามารถนำรายงานการวิเคราะห์อายุหนี้มาใช้ในการวิเคราะห์จัดเกรดลูกค้าได้ เช่น กลุ่ม A = ยังไม่ถึงกำหนดชำระ กลุ่ม B = เกินกำหนดภายใน 30 วัน กลุ่ม C = เกินกำหนด 31-60 วัน กลุ่ม D = เกินกำหนด 61-90 วัน กลุ่ม E = เกินกำหนด 91 วันขึ้นไป                                                                                        จากตัวอย่างข้างต้น ลูกค้าบริษัท กิจการดี จำกัด  ค้างชำระนาน 90 วัน เกินกำหนดชำระ 60 วัน จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม C   การจัดเกรดลูกหนี้จะช่วยให้กิจการจัดลำดับลูกหนี้ที่เกินกำหนดชำระได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการในการติดตามหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ    3. การตรวจสอบคุณภาพลูกหนี้                                                                                               เป็นการทบทวนคุณภาพ  การกำกับตรวจสอบพฤติกรรมที่ผิดปกติของลูกค้า มีการทบทวนการให้วงเงินเครดิต การทบทวนการให้ระยะเวลาเครดิตเทอม ควรมีการตรวจสอบอย่างน้อยปีละครั้ง มีการตรวจสอบพฤติกรรม เช่น ลูกหนี้มีการขอเลื่อนการวางบิล มีการชำระเช็คลงวันที่ล่วงหน้า ควรมีการวิเคราะห์ข้อมูล กำกับดูแล การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน ได้แก่ อัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้ (AR Turnover) ซึ่งถ้าอัตรา AR Turnover มีค่าสูงแสดงถึงความสามารถในการบริหารลูกหนี้ให้แปลงสภาพเป็นเงินสดได้เร็ว, ระยะเวลาถัวเฉลี่ยในการเรียกเก็บหนี้ (Average Collection Period) ซึ่งอัตรายิ่งต่ำยิ่งดี แสดงให้เห็นถึงการมีคุณภาพของลูกหนี้ การมีประสิทธิภาพในการเรียกเก็บหนี้ รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติการขายสินค้าของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเรียกเก็บเงินไม่ได้ในอนาคตอนาคต                                                                                                                       4.การประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ  เป็นการประมาณการทางบัญชี โดยประมาณจำนวนหนี้ที่คาดว่าจะเก็บไม่ได้ ซึ่งคำนวณเป็นร้อยละของยอดขาย หรือคำนวณเป็นร้อยละของลูกหนี้  โดยเป็นการวิเคราะห์จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับจำนวนลูกหนี้ที่ยังเก็บไม่ได้ ในการดำเนินธุรกิจแม้ลูกหนี้โดยส่วนใหญ่จะชำระหนี้เมื่อถึงกำหนด แต่ก็มีลูกหนี้ที่ไม่ชำระหนี้ และในทางปฏิบัติจะไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าลูกหนี้รายใดจะไม่ชำระหนี้จนกว่าจะถึงกำหนดชำระ หรือได้มีการทวงถามจนถึงที่สุดแล้ว ทำให้มูลค่าของลูกหนี้ที่จะแสดงในงบการเงินมีจำนวนสูงกว่าความเป็นจริง ดังนั้นการประมาณการจำนวนหนี้ที่คาดว่าจะเรียกเก็บไม่ได้ขึ้นจำนวนหนึ่ง โดยกันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญซึ่งมีลักษณะเป็นบัญชีปรับมูลค่านำไปลดบัญชีลูกหนี้ จะช่วยผู้ประกอบการในการบริหารจัดการลูกหนี้ทำให้กิจการทราบมูลค่าของลูกหนี้ที่แสดงมูลค่าสุทธิที่ใกล้เคียงกับมูลค่าตามความเป็นจริงได้    การบริหารจัดการลูกหนี้ที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดลูกหนี้ค้างนานได้ ช่วยให้กิจการได้รับชำระเงินจากการขายสินค้าได้ครบถ้วนและมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ  นำไปสู่การเติบโตในอนาคต      PEAK โปรแกรมบัญชี ช่วยผู้ประกอบการจัดทำบัญชี ให้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ลูกหนี้ของกิจการได้อย่างถูกต้อง เสริมสร้างสภาพคล่องช่วยให้กิจการเติบโตได้อย่างยั่งยืน อ้างอิง: การเรียกเก็บหนี้ (Collection) ความหมายของการเรียกเก็บหนี้ การควบคุมหนี้ และการติดตามหนี้ (novabizz.net)                                                                                                         เจาะลึกบัญชีลูกหนี้ (Accounts Receivable Aging) คืออะไร? – PENIAPHOBIA                           จัดการลูกหนี้ อย่างไร? ให้ได้เงิน – MoneyHub                                                                                   วิธีจัดเกรดลูกค้าจาก AR Aging – Zero to Profit                                                                                       การทวงหนี้จากลูกหนี้อย่างถูกกฎหมายและมีประสิทธิภาพ (wonder.legal)

17 ส.ค. 2022

PEAK Account

23 min

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนทรัพย์สินของกิจการ

นักบัญชีส่วนใหญ่รู้จักทะเบียนทรัพย์สินหรือ Fixed Asset Register ว่าเป็นการสรุปรายละเอียดของทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น อาคารสำนักงานหรือโรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์สำนักงานซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้มีอายุการใช้งานนานและมีมูลค่าสูง และต้องมีการประมาณการค่าเสื่อมราคา ทะเบียนทรัพย์สินมีความสำคัญอย่างไร มีขั้นตอน ข้อปฏิบัติ สิ่งควรรู้ในการจัดทำอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ สินทรัพย์ประเภทใดที่ต้องจัดทำทะเบียนคุม หลายคนเข้าใจว่าทรัพย์สิน กับ สินทรัพย์ เป็นคำคำเดียวกันเพียงแค่สลับคำกัน แต่ที่จริงทั้งสองคำนี้มีความหมายต่างกัน โดยทรัพย์สินเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ ตามพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายความหมายของคำว่า “ทรัพย์สิน” และ “สินทรัพย์” ไว้ดังนี้ 1. ทรัพย์สิน(Property) หมายถึง รายการของวัตถุทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่ถือครองได้  ซึ่งมีมูลค่าเป็นเงิน  ทรัพย์สินแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ  (1)  ทรัพย์สินมีตัวตน (Tangible assets) หรือ ในทางบัญชีใช้คำว่า “ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ ”(Property, Plant and Equipment)  ได้แก่ ที่ดิน อาคารโรงงาน อาคารสำนักงาน เครื่องจักร ยานพาหนะ อุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น (2)  ทรัพย์สินทางการเงิน (Financial  assets)  เช่น เงินตรา  ธนบัตร  หุ้น พันธบัตร เป็นต้น (3) ทรัพย์สินไม่มีตัวตน (Intangible assets)  เช่น  เครื่องหมายการค้า (Trade–mark), ค่าความนิยม (Goodwill) ของสินค้าหรือของกิจการ, ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น 2. สินทรัพย์  ในทางบัญชี หมายถึง สิทธิและทรัพยากรที่กิจการมีอยู่ ซึ่งเกิดจากการประกอบการสามารถแสดงค่าเป็นตัวเงินได้และจะให้ประโยชน์ในอนาคต ซึ่งนอกจากจะหมายรวมถึงรายการทรัพย์สินแล้ว ยังรวมรายจ่ายที่จ่ายไปและไม่มีสิทธิเรียกร้อง แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่กิจการยังมีอยู่  เช่น รายจ่ายรอตัดบัญชี เป็นต้น กิจการที่มีทรัพย์สินที่มีตัวตนไว้ในครอบครอง จำเป็นต้องมีระบบการควบคุมและเก็บรักษาทรัพย์สิน จึงต้องมีการจัดทำทะเบียนทรัพย์สิน เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนของทรัพย์สิน ค่าเสื่อมราคา ค่าเสื่อมราคาสะสม ตลอดจนระบุแหล่งที่ใช้ทรัพย์สินนั้นอยู่  ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16  ได้ให้ความหมายของ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ (Property, Plant and Equipment) ไว้ดังนี้ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ หมายถึง สินทรัพย์ที่มีตัวตนซึ่งเข้าเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้ 1. กิจการมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการ เพื่อให้เช่า หรือเพื่อใช้ในการบริหารงาน  2. กิจการคาดว่าจะใช้ประโยชน์มากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลา ราคาทุน ของที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ประกอบด้วย 1. ราคาซื้อ รวมอากรขาเข้า และภาษีซื้อที่เรียกคืนไม่ได้ หักส่วนลดการค้าและจำนวนที่ได้รับคืนจากผู้ขาย 2. ต้นทุนการกู้ยืมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้มา การก่อสร้าง หรือการผลิตของสินทรัพย์ที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการเตรียมพร้อม ได้แก่ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมและต้นทุนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวเนื่องจากการกู้ยืมของกิจการ 3. ต้นทุนทางตรงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาสินทรัพย์ เพื่อให้สินทรัพย์นั้นอยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมที่จะใช้งานได้ตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร ต้นทุนทางตรงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ต้นทุนการเตรียมสถานที่ ต้นทุนการขนส่งเริ่มแรกและการเก็บรักษา ต้นทุนการติดตั้งและการประกอบ ต้นทุนในการทดสอบว่าสินทรัพย์นั้นสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมหรือไม่  4. ต้นทุนที่ประมาณการเบื้องต้นสำหรับการรื้อ การขนย้าย และการบูรณะสถานที่ตั้งของสินทรัพย์ ซึ่งเป็นภาระผูกพันของกิจการที่เกิดขึ้นเมื่อกิจการได้สินทรัพย์นั้นมา  ทะเบียนทรัพย์สิน (Fixed Asset Register)  คืออะไร ทะเบียนทรัพย์สิน หมายถึง รายงานสรุปรายละเอียดของทรัพย์สินที่มีตัวตนที่มีอยู่ในกิจการและใช้ในการควบคุมภายในเพื่อ ตรวจสอบความมีตัวตนอยู่จริงของทรัพย์สิน ความสำคัญของทะเบียนทรัพย์สิน ทะเบียนทรัพย์สินมีความสำคัญต่อกิจการดังต่อไปนี้ 1. เป็นการยืนยันว่าทรัพย์สินมีตัวตนอยู่จริง การที่กิจการจัดทำทะเบียนทรัพย์สินแสดงให้เห็นว่ากิจการมีรายงานที่แสดงว่ามีการควบคุมทรัพย์สิน  อย่างไรก็ตามกิจการควรมีการตรวจนับทรัพย์สินอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้เกิดระบบการควบคุมภายในที่ดี 2. เป็นการป้องกันการทุจริตและปรับปรุงทะเบียนคุมทรัพย์สินให้ถูกต้องตรงกันกับทรัพย์สินที่มีอยู่จริง การจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินและมีการตรวจนับทรัพย์สินว่ามีจำนวนตรงกันกับรายการในทะเบียนคุมหรือไม่ ช่วยป้องกันการทุจริตหรือการสูญหายของทรัพย์สิน เป็นการแสดงว่าทรัพย์สินนั้นๆ มีการใช้งานจริงและเป็นทรัพย์สินที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการ และในกรณีที่ทะเบียนคุมไม่อัปเดต เช่น มีทรัพย์สินเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานได้แล้วแต่มีการจำหน่ายออกจากบัญชี หรือมีทรัพย์สินจำนวนมากที่มียอดคงเหลืออยู่ในบัญชีแต่ไม่มีของจริง ให้ทำการตรวจสอบให้ถูกต้อง 3. ช่วยให้การตรวจสอบค้นหาทรัพย์สินทำได้ง่าย ในการจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินที่มีการกำหนดที่ตั้ง (Location) ของทรัพย์สิน จะทำให้สะดวกต่อการนำทรัพย์สินมาใช้และค้นหาได้ง่ายเมื่อมีการตรวจนับประจำงวด 4. ทำให้การคำนวณค่าเสื่อมราคาถูกต้อง การจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินและการตรวจนับทรัพย์สินดังที่กล่าวมา จะช่วยให้ข้อมูลทรัพย์สินครบถ้วน ทำให้การคำนวณค่าเสื่อมราคามีความถูกต้อง ไม่เกิดความผิดพลาดและปัญหาตามมา การควบคุมการใช้ทรัพย์สินของกิจการ การจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมการใช้ทรัพย์สินพื่อให้เกิดระบบการควบคุมภายในที่ดี ที่จริงแล้วการควบคุมการใช้ทรัพย์สินเพื่อให้เกิดระบบการควบคุมภายในที่ดีมีด้วยกัน  5 ระยะ ดังนี้ ระยะแรก เริ่มจากการจัดหาทรัพย์สินมาใช้ในการดำเนินกิจการ ควรมีการจัดทำงบประมาณในการจัดซื้อ โดยแต่ละหน่วยงานเป็นผู้จัดทำ ปกติจะจัดทำปีละครั้งเพื่อระบุความต้องการในการซื้อทรัพย์สินใหม่เพื่อทดแทนของเดิม หรือเพิ่มเติมจากทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว ในการตั้งงบประมาณการซื้อทรัพย์สิน หน่วยงานควรพิจารณาถึงความต้องการใช้และผลตอบแทน หรือความคุ้มค่าที่จะได้จากการลงทุนในทรัพย์สินน้้น รวมทั้งพิจารณาเงินทุนที่มีอยู่ในปีงบประมาณแต่ละปีว่ามีเพียงพอหรือไม่ ในการจัดทำงบประมาณควรมีการ  เปรียบเทียบเงินที่จ่ายจริงในการซื้อทรัพย์สินและตัวเลขงบประมาณเพื่อเป็นการติดตามและเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นว่าเงินที่จ่ายซื้อทรัพย์สินมีความเหมาะสมและยังอยู่ภายในวงเงินงบประมาณที่กำหนดไว้ ระยะที่สอง เป็นขั้นตอนของการจัดซื้อ ซึ่งกิจการควรมีการกำหนดนโยบายในการจัดซื้อทรัพย์สิน รวมทั้งอำนาจในการอนุมัติ โดยทั่วไปวิธีปฏิบัติในการจัดซื้อจะไม่ค่อยต่างจากการจ้ดซื้อสินค้าทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม ควรมีการสอบราคาจากผู้ขายที่เชื่อถือได้และในการรับของควรให้หน่วยงานผู้เสนอซื้อเข้ามาร่วมตรวจรับของด้วย เพื่อจะได้ทราบว่าทรัพย์สินนั้นตรงตามความต้องการที่เสนอมาหรือไม่ ระยะที่สาม  กิจการควรพิจารณาแบ่งแยกรายจ่ายในการซื้อทรัพย์สินโดยมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ว่าเป็นรายจ่ายฝ่ายทุน (Capital Expenditure) หรือรายจ่ายในการดำเนินงาน โดยรายจ่ายฝ่ายทุนจะเป็นรายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สิน รวมทั้งรายจ่ายในการต่อเติม รายจ่ายในการเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สิน รายจ่ายในการขยายออก และรายจ่ายในการทำให้ทรัพย์สินดีขึ้นกว่าวันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา ส่วนรายจ่ายในการดำเนินกิจการ หมายถึงรายจ่ายในการดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ โดยที่ธุรกิจไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใดๆ ได้แก่ เงินเดือน ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น  ในการพิจารณาว่าเป็นรายจ่ายฝ่ายทุนให้พิจารณาจากรายจ่ายที่ถือว่าเป็นราคาทุนของที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ได้แก่ ค่าขนส่ง ค่าเตรียมสถานที่ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง เป็นต้น นอกจากนี้กิจการควรกำหนดนโยบายในการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของทรัพย์สิน เช่น มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ระยะที่สี่ เริ่มตั้งแต่เมื่อกิจการได้รับทรัพย์สินเข้ามา ซึ่งจะต้องมีการจัดหมวดหมู่ให้ทรัพย์สินนั้นก่อน มีการให้รหัสทรัพย์สิน การบันทึกรายละเอียดของทรัพย์สินลงในทะเบียนคุมทรัพย์สิน ซึ่งจะกล่าวถึงขั้นตอนและแนวปฏิบัติในรายละเอียดต่อไป นอกจากนี้กิจการควรทำประกันภัยเพื่อลดความเสี่ยงภัยอันอาจจะเกิดแก่ทรัพย์สิน ได้แก่ ไฟไหม้ การโจรกรรม อุบัติเหตุต่างๆ เป็นต้น โดยเฉพาะทรัพย์สินที่มูลค่าสูง เช่น อาคาร เครื่องจักร ยานพาหนะ เป็นต้น จากนั้นเป็นขั้นตอนของการคำนวณค่าเสื่อมราคาและควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกี่ยวกับทรัพย์สินและควรมีการตรวจนับทรัพย์สินอย่างน้อยปีละครั้ง ระยะที่ห้า เมื่อมีการเลิกใช้ทรัพย์สิน ต้องมีการอนุมัติการตัดจำหน่ายและกำหนดแนวปฏิบัติในการตัดจำหน่ายทรัพย์สิน เทคนิคในการจัดทำทะเบียนทรัพย์สินของกิจการ ในการควบคุมการใช้ทรัพย์สินของกิจการหลังจากที่กิจการได้รับทรัพย์สินมาแล้ว  เป็นขั้นตอนในการจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สิน โดยมีขั้นตอนการจัดทำดังต่อไปนี้ 1. การจัดทรัพย์สินตามประเภทของทรัพย์สินเป็นกลุ่มและกำหนดรหัสทรัพย์สิน โดยกิจการควรแบ่งกลุ่มทรัพย์สินเป็นกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อยๆ ตามประเภทของทรัพย์สิน ซึ่งมีรหัสทรัพย์สินแยกตามกลุ่มของทรัพย์สิน ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ที่ดิน                                                            รหัส 161        ที่ดินที่ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงงาน            รหัส 161-1        ที่ดินที่ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างสำนักงาน         รหัส 161-2        ที่ดินที่ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างร้านค้า             รหัส 161-3 อาคาร                                                          รหัส 162                                     อาคารโรงงาน                                       รหัส 162-1        อาคารสำนักงาน                                  รหัส 162-2           อาคารร้านค้า                                        รหัส 162-3 เครื่องจักรและอุปกรณ์                                       รหัส 163          เครื่องจักรและอุปกรณ์โรงงาน                     รหัส 163-1          เครื่องจักรและอุปกรณ์สำนักงาน                รหัส 163-2          เครื่องจักรและอุปกรณ์ร้านค้า                     รหัส 163-3 โดยปกติในการกำหนดรหัสทรัพย์สินจะเป็นการระบุกลุ่มทรัพย์สิน (Fixed Asset Group) และรหัสทรัพย์สิน(Fixed Asset Number) ที่ระบุกลุ่มทรัพย์สิน และ Running Number ตามลำดับวันที่ก่อน-หลังที่ซื้อทรัพย์สินนั้น 2. นอกจากกำหนดรหัสทรัพย์สินแล้ว ในการจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินควรระบุชื่อทรัพย์สิน (Asset Name), ชื่อย่อหรือนามแฝง (Asset Name Alais), สถานที่ของทรัพย์สิน (Location) เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาเมื่อทำการตรวจนับ  3. เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าเสื่อมราคา ทะเบียนคุมทรัพย์สินควรระบุวันที่เริ่มใช้งานทรัพย์สิน, อ้างอิงเลขที่เอกสารใบแจ้งหนี้ที่ซื้อทรัพย์สิน, วิธีคิดค่าเสื่อมราคา, อัตราค่าเสื่อมราคา, วันที่คิดค่าเสื่อมราคา, ราคาทุนของทรัพย์สิน รวมทั้งค่าเสื่อมราคาและค่าเสื่อมราคาสะสม  4. มูลค่าตามบัญชีคงเหลือ (Net Book Value) ซึ่งได้จากการคำนวณราคาทุนหักด้วยค่าเสื่อมราคาสะสม โดยมูลค่าตามบัญชีคงเหลือในทะเบียนทรัพย์สินของทุกรายการรวมกันควรเท่ากับมูลค่าตามบัญชีคงเหลือในบัญชีแยกประเภทของที่ดิน อาคาร และอุุปกรณ์ ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันความครบถ้วนของการบันทึกบัญชีที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 5. มีการจัดทำฉลาก (Tags) ติดกำกับที่ทรัพย์สิน ซึ่งจะช่วยในการคันหาและตรวจสอบทรัพย์สินได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น  6. เมื่อดำเนินการจัดทำทะเบียนทรัพย์สินแล้ว เพื่อให้เกิดระบบการควบคุมภายในที่ดีที่เป็นการยืนยันความมีตัวตนของทรัพย์สิน กิจการควรกำหนดให้มีการตรวจนับทรัพย์สินอย่างน้อยปีละครั้งดังที่กล่าวมาแล้ว         ข้างต้น ปัจจุบัน โปรแกรมบัญชีออนไลน์อย่าง PEAK ACCOUNT มีระบบจัดการทะเบียนทรัพย์สินและการบันทึกค่าเสื่อมราคา ทำให้นักบัญชีจัดทำทะเบียนทรัพย์สินได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น ช่วยประหยัดเวลาในการทำงานและมีความถูกต้องในการบันทึกบัญชี โดย PEAK Asset จะมาช่วยในการควบคุมดูแลทรัพย์สินของกิจการ ควบคุมการรับเข้าและตัดจำหน่ายทรัพย์สิน มีรายงานสรุปมูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่ ช่วยคำนวณค่าเสื่อมราคาทางบัญชี พร้อมบันทึกรายการบัญชีให้โดยอัตโนมัติ สามารถจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินแต่ละรายการ นักบัญชีสามารถแนบไฟล์รูปภาพของทรัพย์สินให้ตรงกับทะเบียนทำให้การตรวจนับทรัพย์สินมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันการทุจริตและการสูญหายของทรัพย์สิน ซึ่งนักบัญชีสามารถศึกษาระบบ PEAK Asset ได้ตามลิงก์นี้ PEAK Asset ระบบจัดการสินทรัพย์ และการบันทึกค่าเสื่อมราคา – PEAK Blog (peakaccount.com) สำหรับฟังก์ชั่นใน PEAK Asset ประกอบด้วย 1. ฟังก์ชั่นเพิ่มกลุ่มสินทรัพย์ 2. ฟังก์ชั่นเพิ่มสินทรัพย์ยกมา 3. ฟังก์ชั่นซื้อสินทรัพย์ 4. ฟังก์ชั่นขายสินทรัพย์ 5. หน้ารายละเอียดสินทรัพย์และตารางค่าเสื่อมราคา 6. พิมพ์รายงานกลุ่มสินทรัพย์แสดงทรัพย์สินและมูลค่าทั้งหมด 7. ฟังก์ชั่นหยุดคิดค่าเสื่อมราคา PEAK Asset เหมาะกับใคร 1. กิจการที่มีทรัพย์สินเพื่อการใช้งานเป็นระยะเวลานานและมีมูลค่าสูง เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ ยานพาหนะ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เป็นต้น และต้องการจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สิน 2. นักบัญชีที่จัดทำบัญชีให้ธุรกิจที่มีสินทรัพย์ถาวรอยู่ภายในกิจการ 3. ผู้ดูแลทรัพย์สินหรือฝ่ายจัดซื้อ ที่มีหน้าที่ตรวจนับและดูแลทรัพย์สินภายในกิจการ ติดตามความรู้ทางบัญชี ภาษี ได้ที่ บทความ – PEAK Blog (peakaccount.com)  PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ช่วยนักบัญชีจัดทำบัญชีได้สะดวกรวดเร็วและถูกต้อง ช่วยผู้ประกอบการจัดการเรื่องบัญชีได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชึ PEAK ได้ที่ สอบถามเพิ่มเติม คลิก อ้างอิง ทะเบียนทรัพย์สินคืออะไร รู้กันในบทความนี้เลย | Station Account (station-ac    count.com) ระบบบัญชีสินทรัพย์ถาวร,ระบบบัญชี 2561, วิไล วีรปรีย จงจิตต์ หลีกภัย ประจิตร หาวัตร

17 ส.ค. 2022

PEAK Account

21 min

เทคนิคบริหารจัดการ ลดต้นทุน สร้างกำไร ช่วยธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด

เทคนิคการลดต้นทุน (Cost Reduction) เป็นแนวทางการบริหารองค์กรที่ทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลง ต้นทุนในที่นี้มิได้หมายถึงเม็ดเงินแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงทรัพยากรที่สูญเสียไปในการผลิตหรือการให้บริการ โดยไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับส่วนอื่นๆ ได้  แนวทางการลดต้นทุนขององค์กร ในที่นี้จะขอนำเสนอเทคนิคการลดต้นทุนในองค์กร ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ไม่เฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะช่วยสร้างกำไรและทำให้ธุรกิจเติบโตได้ โดยแบ่งออกได้เป็น 4 แนวทาง ดังต่อไปนี้ 1. การลดต้นทุนด้านการผลิต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจผลิต หรือให้บริการ ต้นทุนการผลิตเป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องการควบคุมอย่างมากเพราะจะช่วยประหยัดต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือให้บริการ ทำให้กิจการได้รับกำไรเพิ่มขึ้น  แต่ถ้าการบริหารต้นทุนไม่ดีก็จะก่อให้เกิดผลเสียทำให้คุณภาพของสินค้าและบริการลดลง  การลดต้นทุนการผลิตเป็นการลดค่าใช้จ่ายและความเสียหายในช่วงระหว่างการดำเนินการผลิตสินค้าหรือบริการ ซึ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าหรือบริการเพื่อให้ลูกค้าที่ใช้สินค้าหรือบริการนั้นเกิดความพึงพอใจ ในการลดต้นทุนการผลิตแบ่งตามประเภทของต้นทุนได้เป็น 3 ประเภท ซึ่งจะมองเห็นได้ชัดเจนในธุรกิจที่ทำการผลิตสินค้า ดังต่อไปนี้ 1.1 การลดต้นทุนวัตถุดิบ โดยทั่วไปต้นทุนวัตถุดิบ (Material Cost) แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ  ก. ต้นทุนวัตถุดิบทางตรง (Direct Material Cost) หมายถึง วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิต เป็นส่วนประกอบหรือส่วนผสมหลักที่นำมาผลิตสินค้าและสามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าใช้ในการผลิตสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งในปริมาณและต้นทุนเท่าใด เช่น เยื่อกระดาษเป็นวัตถุดิบทางตรงที่ใช้ในการผลิตกระดาษ ไม้แปรรูปเป็นวัตถุดิบทางตรงที่ใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ข. ต้นทุนวัตถุดิบทางอ้อม (Indirect Material Cost) หมายถึง วัตถุดิบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนผสมหรือส่วนประกอบเสริมที่เอามาผลิตสินค้า แต่ไม่ใช่วัตถุดิบหลักหรือวัตถุดิบส่วนใหญ่ เช่น กาว ตะปู กระดาษทราย เป็นวัตถุดิบทางอ้อมของการผลิตเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น หรือที่เรียกว่าวัสดุโรงงานซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตประเภทหนึ่ง โดยเทคนิคในการลดต้นทุนวัตถุดิบ ในการจัดหาวัตถุดิบควรมีการเปรียบเทียบราคาจาก Supplier         หลายราย เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการมากที่สุด มีความเหมาะสมกับกระบวนการผลิต คำนึงถึงระยะเวลาที่ใช้ในการจัดซื้อ วิธีการเก็บรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้วัตถุดิบเสื่อมสภาพหรือหมดอายุก่อนการใช้งาน ซึ่งทำให้กิจการมีต้นทุนจ่ายซื้อวัตถุดิบแต่มิได้นำมาใช้งาน  1.2 การลดต้นทุนการผลิตทางด้านแรงงานและค่าโสหุ้ยการผลิต ต้นทุนแรงงาน (Labor Cost) เป็นต้นทุนของค่าจ้างและผลตอบแทนที่จ่ายให้แก่คนงานหรือลูกจ้างที่ทำหน้าที่ผลิตสินค้า โดยต้นทุนแรงงานแบ่งออกได้ 2 ประเภทดังนี้ ก. ค่าแรงงานทางตรง (Direct Labor Cost) หมายถึง ค่าแรงที่จ่ายให้คนงานที่ทำการผลิตสินค้าสำเร็จรูปโดยตรง เป็นค่าแรงหลักที่สำคัญในการผลิตสินค้าหน่วยหนึ่งๆ ได้แก่ ค่าแรงคนงานที่ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เป็นต้น ข. ค่าแรงทางอ้อม (Indirect Labor Cost) หมายถึง ค่าแรงงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับค่าแรงทางตรงที่ใช้ในการผลิตสินค้า เช่น เงินเดือนพนักงานทำความสะอาดเครื่องจักรและโรงงาน เงินเดือนเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพ เงินเดือนช่างซ่อมบำรุง เป็นต้น ค่าโสหุ้ยการผลิต เป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้านอกเหนือจากต้นทุนวัตถุดิบทางตรงและแรงงานทางตรง ได้แก่ ต้นทุนวัตถุดิบทางอ้อม ต้นทุนแรงงานทางอ้อม ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเช่าของโรงงาน ค่า          เสื่อมราคาเครื่องจักร ค่าเสื่อมราคาอาคารโรงงาน  เป็นต้น ในการลดต้นทุนแรงงานและโสหุ้ยการผลิตสามารถทำได้โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อช่วยลดต้นทุน ถึงแม้ว่าในระยะแรกจะใช้เงินลงทุนสูงแต่จะช่วยประหยัดต้นทุนทางด้านแรงงานและโสหุ้ยการผลิตในระยะยาวได้  1.3 การลดต้นทุนทางด้านเครื่องจักร การลดต้นทุนทางด้านเครื่องจักรมิได้ หมายถึง การลดจำนวนเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต แต่หมายถึงในแง่ของการบำรุงรักษา คือ การหมั่นตรวจสอบดูแลและซ่อมบำรุงเครื่องจักรอย่างสม่ำเสมอ ให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อคุณภาพของสินค้าที่ผลิต อันจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย  2. การใช้งานระบบ LEAN Management LEAN เป็นเทคนิคในการลดต้นทุน ด้วยการปรับการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผ่านการลดกระบวนการทำงานที่ไม่สร้างมูลค่าในระยะยาว เน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพของกระบวนการทำงาน หัวใจของ LEAN คือการเพิ่มคุณค่าให้แก่องค์กรและลูกค้าผ่านการพัฒนาระบบเพื่อที่จะได้ใช้ทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  หลักการพื้นฐานของระบบ LEAN Management มีด้วยกัน 5 ประการ ดังนี้ 1. กำหนดคุณค่า (Identify Value) 2. วางแผนดำเนินงาน (Map the Value Stream) 3. สร้างขั้นตอนการทำงาน (Create Flow) 4. ใช้ระบบดึง (Establish Pull) 5. มุ่งสู่ความสมบูรณ์แบบ (Seek Perfection) ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้ 1. กำหนดคุณค่า (Identify Value) เป็นการระบุคุณค่าที่องค์กรต้องการที่จะสร้างให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณค่าในกระบวนการทำงานและหาวิธีการลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงาน เป็นการฟังเสียงลูกค้าที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการรับรู้ปัญหา หรือ Pain Point ของลูกค้าและส่งมอบคุณค่าที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ 2. วางแผนการดำเนินงาน (Map the Value Stream) เป็นการเขียนแผนผังไหลของงาน เพื่อให้รู้ว่าเกิดความสูญเปล่า (Waste) ในขั้นตอนใด ขั้นตอนใดใช้เวลามากเกินไปหรือใช้คนมากเกินไป มีความติดขัดของงานในขั้นตอนใดบ้าง จะได้ทำการลดหรือขจัดให้หมดไป 3. สร้างขั้นตอนการทำงาน (Create Flow) เป็นการดูแลและควบคุมระบบงานให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เป็นการกำจัดคอขวดไม่ให้งานหยุดชะงักและใช้การจัดการเทคโนโลยีต่างๆ แก้ไขให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องจนจบกระบวนการ 4. ใช้ระบบดึง (Establish Pull) ระบบดึง คือ การนำความต้องการหลักของลูกค้ามาเป็นเป้าหมายหลักในการทำงาน ได้แก่ การผลิตตาม      ออเดอร์ลูกค้า เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเปล่าในการผลิตสินค้าจนมีสินค้าคงคลังมากเกินไปจนกลายเป็นต้นทุนจม ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้เกิดการไหลลื่นของงานอย่างต่อเนื่องและเป็นการใช้ทรัพยากรที่        คุ้มค่า 5. มุ่งสู่ความสมบูรณ์แบบ (Seek Perfection) ขั้นตอนนี้เป็นการวัดผลและปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง โดยทำการวิเคราะห์ ปรับปรุง พัฒนากระบวนการทำงานอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ การทำ PDCA (Plan Do Check Act) เพื่อให้งานที่ได้มีมาตรฐาน สามารถตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไข ค้นหาจุดบกพร่องและพัฒนาให้ดีขึ้นได้ หลักการของ LEAN 5 ประการดังที่กล่าวมา จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรดังนี้ 1. การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น LEAN เป็นการขจัดความสูญเปล่า ทำให้พนักงานได้ทำงานเฉพาะกระบวนการที่มีคุณค่าเท่านั้น 2. เป็นการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ ในการทำงาน พนักงานจะไม่เสียเวลากับกระบวนการที่ไม่จำเป็น ประหยัดเวลาในการทำงาน สินค้าและบริการจะถึงมือลูกค้าเร็วขึ้น 3. การให้บริการตรงตามความต้องการของลูกค้า ระบบ LEAN จะมุ่งเน้นการปรับปรุงและพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองตรงตามความต้องการของลูกค้า 4. พนักงานมีกำลังใจในการทำงาน ระบบ LEAN สนับสนุนให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้บริหารและพนักงาน มีการรับฟังความคิดเห็นของพนักงานก่อให้เกิดบรรยากาศในการทำงานที่ดี 5. ช่วยลดต้นทุนของสินค้าคงคลัง ธุรกิจผลิต ถ้าผลิตสินค้ามากเกินไปทำให้ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสูงขึ้น รวมทั้งการเก็บสินค้าไว้นาน การเก็บสินค้าไว้นานจะทำให้สินค้าสูญเสียคุณภาพ 3. การจัดทำงบประมาณ การจัดทำงบประมาณเป็นเทคนิคอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนได้ โดยการควบคุมค่าใช้จ่ายผ่านตัวเลขทางบัญชี งบประมาณจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่าย เป็นเครื่องมือให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการใช้เงินในแต่ละช่วงเวลาและเป็นเครื่องมือในการวางแผนกำไรของกิจการ ในการจัดทำงบประมาณโดยทั่วไปจะทำพร้อมกับการจัดทำแผนดำเนินงานประจำปี โดยในการจัดทำผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของบริษัท เป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วย โดยทั่วไปงบประมาณที่ธุรกิจจัดทำมี 2 ประเภท ได้แก่ 1. งบประมาณดำเนินการ (Operating Budget) ประกอบด้วย งบประมาณการขาย งบประมาณแรงงาน งบประมาณค่าใช้จ่ายโรงงาน งบประมาณต้นทุนการผลิต งบประมาณค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 2. งบประมาณการเงิน (Financial Budget) ประกอบด้วย งบประมาณเงินสด งบประมาณกำไรขาดทุน งบประมาณงบดุล ส่วนธุรกิจขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องทำงบประมาณการทุกงบ สามารถเลือกทำงบประมาณที่มีความสำคัญต่อกิจการ เช่น งบประมาณการขาย งบประมาณค่าใช้จ่ายและงบประมาณกำไรขาดทุน  การจัดทำงบประมาณมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจที่กำลังขยายและเจริญเติบโต เพราะจุดประสงค์ของการจัดทำงบประมาณเพื่อวางแผนให้บริษัทมีกำไร (Profit Planning) และเพื่อจะวิเคราะห์ถึงต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน (Cost and Expense Analysis) ว่ามีค่าสูงหรือต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันและจุดประสงค์สุดท้ายเพื่อให้เจ้าของกิจการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่าย (Control Cost and Operating Expense) ที่เกิดขึ้นได้ การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้วยการจัดทำงบประมาณมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องติดตามตัวเลขจริงเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ตั้งไว้อย่างใกล้ชิดและหาแนวทางการแก้ปัญหาพร้อมทั้งผลักดันฝ่ายต่างๆให้ช่วยกันลดค่าใช้จ่ายทั้งการผลิตและค่าใช้จ่ายในการบริหารอย่างจริงจังและเป็นระบบ การวิเคราะห์ผลแตกต่างงบประมาณและตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงก็เพื่อควบคุมและทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การจัดทำการวิเคราะห์ผลแตกต่างของงบประมาณกับตัวเลขจริงที่เกิดขึ้นควรจัดทำทุก 1 เดือน หรือ 3 เดือน ก็เพื่อติดตามการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน ความแตกต่างนี้เราเรียกว่า Variance อาจจะไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ (unfavorable) หรือบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ (favorable) ก็ได้ การจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดี เทคนิคอีกอันหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนของกิจการได้คือ การจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดี การควบคุมภายใน เป็นเครื่องมือด้านการจัดการประเภทหนึ่งที่ถูกนำมาช่วยในการบริหารงาน และเป็นกลไกพื้นฐานสำคัญของกระบวนการกำกับดูแลการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ เนื่องจากระบบการควบคุมภายในเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการป้องกันและรักษาทรัพย์สินของกิจการ ช่วยให้การใช้ทรัพยากรของกิจการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้การปฏิบัติงานในขั้นตอนต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันในปัจจุบัน หากกิจการไม่มีการจัดการที่ดี หรือไม่มีการกำกับดูแลที่ดี (Good Governance) ไม่มีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม โอกาสเสี่ยงที่อาจเกิดความผิดพลาดในการดำเนินงานจะมีมาก เกิดการรั่วไหล หรือเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน ซึ่งรวมถึงการล้มละลายของกิจการ สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ก็คือ ขาดระบบการควบคุมภายในที่ดี ขาดการประเมินความเสี่ยงและจัดกิจกรรมควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ตลอดจนการไม่สามารถตรวจพบข้อผิดพลาด ซึ่งเหตุการณ์เหล่านั้นล้วนไม่เป็นผลดีต่อกิจการ  4 แนวทางการควบคุมภายในของกิจการ การควบคุมภายในจะช่วยลดต้นทุนของกิจการ โดยแบ่งเป็น 4 แนวทางได้ดังนี้  1. การควบคุมแบบป้องกัน (Preventive Control) เป็นการควบคุมเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากความผิดพลาด ความเสียหาย เช่น การแบ่งแยกหน้าที่งาน การควบคุมในการเข้าถึงทรัพย์สิน เป็นต้น 2. การควบคุมแบบค้นพบ (Detective Control) เป็นการควบคุมเพื่อค้นพบความเสียหายหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น การสอบทานงาน การตรวจนับ เป็นต้น 3. การควบคุมแบบแก้ไข (Corrective Control) เป็นการควบคุมที่กำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องหรือเพื่อหาวิธีแก้ไขไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต 4. การควบคุมแบบชดเชย (Compensating Control) เป็นการควบคุมที่กำหนดขึ้นเพื่อชดเชยหรือทดแทนระบบที่ทำอยู่เดิม เช่น ใช้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้แทนระบบ Manual เป็นต้น 4 เทคนิคที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการนำไปใช้ในการลดต้นทุนของธุรกิจ ช่วยสร้างกำไรและช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ติดตามความรู้ทางบัญชี ภาษี ได้ที่ บทความ – PEAK Blog (peakaccount.com)  PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ช่วยผู้ประกอบการจัดการเรื่องบัญชีและภาษี ให้ข้อมูลในการจัดทำงบประมาณช่วยให้กิจการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ สอบถามเพิ่มเติม คลิก อ้างอิง: การนำแนวคิด Lean มาใช้ในองค์กร คำตอบของธุรกิจยุค New Normal – (wearecp.com) Lean คืออะไร – 7 ความสูญเปล่า และ หลักการ 5 ประการ – Thai Winner Writer -การลดต้นทุนการผลิต คืออะไร มี่กี่ประเภท ? (tpa.or.th) ทำความรู้จัก Cost Reduction เทคนิคการลดต้นทุน – Pantavanij 5 หลักการระบบลีน (LEAN) วิธีการใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร | HRNOTE Thailand

9 ก.ค. 2022

PEAK Account

28 min

กฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) กับการจัดเก็บข้อมูลของนักบัญชี

ปัจจุบันการใช้งานผ่านระบบดิจิทัล ระบบเครือข่ายออนไลน์ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา มีแพลตฟอร์มให้เลือกใช้งานมากมายและมีหลากหลายช่องทางในการติดต่อสื่อสาร โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป โดยแต่ละช่องทางในการใช้งานจะมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน ได้แก่ ชื่อ นามสกุล อีเมล เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลส่วนตัวที่ให้ไปนั้นจะถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการจริงๆ โดยไม่นำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้เพื่อผลประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากความยินยอมของเรา กฎหมาย PDPA ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไปนั้น จะเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและให้สิทธิที่ควรมีของเจ้าของข้อมูล นักบัญชีเป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลต่างๆ เป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการช่วยนักบัญชีในการปรับตัว รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายบริหารหรือลูกค้าของกิจการได้อย่างครบถ้วนถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด บทความนี้จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักบัญชีและผู้ประกอบการในการเตรียมพร้อมจากการบังคับใช้กฎหมาย PDPA PDPA คืออะไร PDPA คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองส่วนบุคคล พ.ศ.2562 PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act B.E.2562(2019) เป็นกฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล การสร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะอยู่ในรูปแบบของกระดาษหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไม่ให้ข้อมูลถูกจัดเก็บหรือนำไปใช้โดยไม่ได้แจ้งเจ้าของข้อมูลหรือถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน  โดยกฎหมาย PDPA ของไทย ได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ซึ่งได้เลื่อนมามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป  ขอบเขตการบังคับใช้ 1. ภายในราชอาณาจักร บังคับใช้ในการเก็บรวบรวม การใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งอยู่ภายในราชอาณาจักร 2. ภายนอกราชอาณาจักร บังคับใช้ในกรณีผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่นอกราชอาณาจักร ถ้ามีกิจกรรมดังต่อไปนี้ 2.1 การเสนอขายสินค้าหรือบริการแก่เจ้าของข้อมูลซึ่งอยู่ภายในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะมีการชำระเงินหรือไม่ 2.2 การเฝ้าติดตามพฤติกรรมของเจ้าของข้อมูลที่เกิดขึ้นภายในราชอาณาจักร ประเภทของข้อมูลส่วนบุคคล ตามกฎหมาย PDPA แยกประเภทข้อมูลส่วนบุคคลออกเป็น 2 ประเภทดังนี้ 1. ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป (Personal Data) ตามมาตรา 6 ของ PDPA ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป เป็นข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมข้อมูลของผู้ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว และไม่รวมข้อมูลของนิติบุคคล ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป ได้แก่  2. ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน (Sensitive Personal Data) เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการรวบรวมหรือประมวลผล โดยกฎหมายให้การคุ้มครองเข้มงวดกว่าข้อมูลส่วนบุคคลธรรมดา ผู้เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล 1. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject) หมายถึง ลูกค้า พนักงานรวมถึง Outsource ซึ่งเป็นบุคคลที่ข้อมูลบ่งชี้ไปถึง 2. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) หมายถึง บุคคล บริษัท หรือนิติบุคคล องค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะมีการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลอะไรบ้าง ทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้ดูแลระบบที่มีหน้าที่เก็บรวบรวมและนำข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลแล้วไปใช้ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัท บัตรกดเงินสดจำกัด เป็นต้น  3. ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Processor) บุคคล บริษัท หรือนิติบุคคล องค์กรต่างๆ ที่ทำการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล โดยจะทำภายใต้คำสั่งหรือกระทำการในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controlle) เท่านั้น ไม่สามารถตัดสินใจทำการประมวลผลข้อมูลด้วยตนเอง ได้แก่ Outsource ผู้รับจ้าง ไม่ใช่พนักงานหรือส่วนหนึ่งของหน่วยงาน/องค์กร/สถาบัน เช่น ร้านรับทำนามบัตร, ผู้ดูแลเพจร้านค้า, สำนักงานบัญชี, กิจการรับจัดการออเดอร์สินค้า เป็นต้น แนวทางการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมาย PDPA หน่วยงานที่มีการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA มีแนวทางที่สำคัญ 5 ประการที่ต้องปฏิบัติตามดังนี้ 1. ห้ามเก็บข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล 2. เก็บข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่จำเป็น ภายใต้วัตถุประสงค์อันชอบด้วยกฎหมาย 3. ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บข้อมูลให้เจ้าของข้อมูลทราบ 4 .หากเปลี่ยนวัตถุประสงค์ต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบ 5. ห้ามเก็บข้อมูลจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ข้อมูลโดยตรง สิทธิที่เจ้าของข้อมูลสามารถมีต่อข้อมูลของตน ในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ได้รับสิทธิต่อข้อมูลของตนดังต่อไปนี้ 1. สิทธิในการได้รับแจ้ง มาตรา 23 หมายถึง สิทธิที่เจ้าของข้อมูลควรทราบว่าผู้ควบคุมข้อมูล (Data Controller) เก็บข้อมูลของตนเพื่อไปทำอะไร เก็บนานแค่ไหน ส่งต่อให้ใครหรือไม่ และจะติดต่อผู้ควบคุมข้อมูลได้อย่างไร 2 .สิทธิในการเพิกถอนความยินยอม มาตรา 19 หมายถึง สิทธิที่เจ้าของข้อมูลสามารถเพิกถอนความยินยอมในการเก็บข้อมูล โดยต้องสามารถใช้สิทธินี้โดยวิธีที่ง่าย (เช่นเดียวกับตอนที่ให้ความยินยอม) และทำเมื่อใดก็ได้ 3. สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 30 หมายถึง การที่เจ้าของมีสิทธิเข้าถึงและรับสำเนาข้อมูลที่เกี่ยวกับตนและมีสิทธิขอให้เปิดเผยการได้มาซึ่งข้อมูลที่ตน ไม่ได้ให้ความยินยอม โดยผู้ควบคุมข้อมูลจะต้องจัดเตรียมข้อมูลตามคำขอให้เจ้าของภายในไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้คำขอ 4. สิทธิในการแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลให้ถูกต้อง มาตรา 35 และ 36 หมายถึง สิทธิที่เจ้าของข้อมูลสามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อมูลของตนได้ เมื่อเห็นว่าข้อมูลไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ โดยผู้ควบคุมข้อมูลจะต้องแก้ไขตามที่เจ้าของร้องขอ หากผู้ควบคุมปฏิเสธจะต้องบันทึกเหตุผลการปฏิเสธนั้นไว้ด้วย 5 .สิทธิในการลบข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 33 หมายถึง สิทธิที่เจ้าของสามารถขอให้ลบหรือทำลายข้อมูลของตนได้ เมื่อข้อมูลนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ตามวัตถุประสงค์อีกต่อไป เมื่อเจ้าของถอนความยินยอม หรือเมื่อข้อมูลถูกนำไปใช้อย่างผิดกฎหมาย 6. สิทธิในการคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล  มาตรา 32  หมายถึง เจ้าของข้อมูลสามารถคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อไหร่ก็ได้ รวมถึงสามารถทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ ยกเว้นมีเหตุอันควรทางกฎหมายที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น 7. สิทธิในการได้รับและโอนถ่ายข้อมูล  มาตรา 31  หมายถึง ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลต้องการนำข้อมูลที่เคยให้ไว้กับผู้ควบคุมข้อมูลรายหนึ่ง ไปใช้กับผู้ควบคุมข้อมูลอีกราย เช่น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลรายแรกได้ทำจัดทำข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปในอยู่ในรูปแบบต่างๆ ที่เข้าถึงได้ด้วยวิธีการอัตโนมัติ เจ้าของข้อมูลสามารถขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่จัดทำข้อมูลนั้น ทำการส่งหรือโอนข้อมูลดังกล่าวให้ได้ หรือจะขอให้ส่งไปยังผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลรายอื่นโดยตรงก็สามารถทำได้ หากไม่ติดขัดทางวิธีการและเทคนิค โดยการใช้สิทธินั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย สัญญา หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น 8. สิทธิในการขอระงับการใช้ข้อมูล  มาตรา 34 เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนใจไม่ต้องการให้ข้อมูลแล้ว หรือเปลี่ยนใจระงับการทำลายข้อมูลเมื่อครบกำหนดที่ต้องทำลาย เพราะมีความจำเป็นต้องนำข้อมูลไปใช้ในทางกฎหมาย หรือการเรียกร้องสิทธิ ก็สามารถทำได้ บทลงโทษที่ได้รับหากไม่ปฏิบัติตามPDPA บทลงโทษหากนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมมีดังนี้ 1. โทษทางแพ่ง การจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของข้อมูล ประกอบด้วย ค่าสินไหมทดแทนบวกค่าสินไหมเพื่อการลงโทษอีกไม่เกิน 2 เท่า ของค่าเสียหายจริง 2. โทษทางปกครอง 2.1 ค่าปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท มาจากโทษไม่ขอความยินยอมให้ถูกต้อง ไม่แจ้งรายละเอียดให้เจ้าของข้อมูลทราบ ไม่ให้เจ้าของข้อมูลเข้าถึงข้อมูลตามสิทธิ ไม่จัดทำบันทึกรายการ ไม่จัดให้มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่จัดให้มีการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ DPO 2.2 ค่าปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท มาจากโทษ เช่น เก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากฐานทางกฎหมาย ไม่ได้แจ้งวัตถุประสงค์การใช้งานใหม่ เก็บข้อมูลเกินความจ าเป็น ขอความยินยอมที่เป็นการหลอกลวงให้เข้าใจผิด ไม่จัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม ไม่แจ้งเหตุเมื่อมีการละเมิดข้อมูล โอนข้อมูลไปต่างประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.3 ค่าปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท มาจากโทษเก็บ รวบรวม ใช้ เปิดเผยหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 3. โทษทางอาญา 3.1 การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวโดยไม่ได้รับความยินยอม ก. กรณีทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ข. การแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท 3.2 ผู้ที่รู้ข้อมูลนำไปเปิดเผยแก่ผู้อื่นหรือหาผลประโยชน์ ก. มีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท 3.3 ถ้าผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานต้องรับโทษด้วย  แนวทางการเก็บข้อมูลทางบัญชีที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย PDPA สำหรับแนวทางในการเก็บข้อมูลทางบัญชีที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย PDPA มีดังนี้                                                                                                  1. การจำแนกข้อมูลทางธุรกิจ                                                                                                                            เมื่อกิจการได้รับข้อมูลผ่านเข้ามาในระบบงานต่างๆขององค์กร ควรจำแนกประเภทของข้อมูลตามเจ้าของข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลผู้จำหน่าย ข้อมูลพนักงาน โดยในการจัดประเภทของข้อมูลจะต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่า ข้อมูลใดเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามที่ PDPA กำหนด ซึ่งต้องได้รับการปฏิบัติให้ถูกต้องตาม PDPA 2. กลไกการประมวลผลข้อมูล การประมวลผลข้อมูลตามกฎหมาย PDPA หมายถึง การเก็บรวบรวม การใช้ การเผยแพร่ และการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น กิจกรรมทางธุรกิจ และการทำบัญชี ซึ่งต้องมีการเก็บข้อมูล บันทึก ข้อมูลใช้ในการทำงาน การเผยแพร่และการเก็บรักษา ซึ่งถ้าเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลจะถือเป็นการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ตามที่PDPA กำหนดทั้งหมด และนักบัญชีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม PDPA อย่างเหมาะสม กิจการจะต้องมีกลไกในการกำกับดูแลรวมทั้งกระบวนการภายในที่มีความพร้อม ในการแสดงให้เห็นว่ากิจการสามารถปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการปรับปรุงกลไกและกระบวนการให้เป็นปัจจุบันและจัดให้มีการอบรมบุคลากรให้มีความเข้าใจเรื่องพ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคลและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง 3. ฐานของการประมวลผลข้อมูล การประมวลผลให้ถูกต้องตาม PDPA มีฐานของการประมวลผลข้อมูล ได้แก่ ฐานกฎหมาย ฐานสัญญา ฐานภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะเพื่ออำนาจรัฐ ฐานประโยชน์อันชอบธรรมด้วยกฎหมาย ฐานจดหมายเหตุ การวิจัยและสถิติ ฐานความยินยอม ดังนั้นการประมวลผลข้อมูลไม่ได้อยู่บนฐานความยินยอมเสมอไป การที่เจ้าของข้อมูลเมื่อให้ความยินยอมได้ เจ้าของข้อมูลก็สามารถถอนความยินยอมได้เช่นกัน สำหรับการจัดทำบัญชี เพื่อเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการบัญชีและประมวลรัษฎากร หรือการให้บริการตามสัญญาที่ภาคธุรกิจมีสำหรับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลแต่ละกลุ่ม ในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการทำบัญชีจึงอยู่ภายใต้ฐานกฎหมายและฐานสัญญาที่มีอยู่เดิมแล้ว กิจการจึงมีหน้าที่ในการประกาศนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Notice) เท่านั้น โดยไม่ต้องขอความยินยอมอีก การกำหนดฐานในการประมวลผลข้อมูลที่เหมาะสมย่อมทำให้ระบบการทำงานเกิดความ มีประสิทธิภาพและช่วยองค์กรลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น     4. สิทธิของเจ้าของข้อมูล เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิภายใต้ PDPA ได้แก่ สิทธิในการขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูล  ส่วนบุคคลของตน ซึ่งอยู่ในความ รับผิดชอบของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในการขอให้เปิดเผยซึ่งการได้มาของข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวที่ตนไม่ได้ให้ความยินยอม สิทธิในการขอเคลื่อนย้ายข้อมูลส่วนบุคคลของตนในกรณีที่ข้อมูลได้รับการจัดเก็บในรูปแบบที่โอนได้โดยอัตโนมัติ สิทธิในการคัดค้านการประมวลผลข้อมูล สิทธิขอให้ลบทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถระบุตัวตนบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลได้  อย่างการใช้สิทธิของลูกค้าของสำนักงานบัญชีซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูล ได้แก่ สิทธิในการขอลบข้อมูลเมื่องานเสร็จสิ้นแล้ว หรือสิทธิในการขอลบข้อมูลหลังจากสำนักงานบัญชีนำข้อมูลไปใช้ทางการตลาด ดังนั้นสำนักงานบัญชีจึงควรดำเนินการขอคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลให้เรียบร้อยเมื่อคาดว่าจะมีรายการในลักษณะนี้เกิดขึ้น มิฉะนั้นสำนักงานบัญชีจะต้องดำเนินการลบข้อมูลให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง 5. หน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หมายถึง บุคคลและนิติบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคล ภาคธุรกิจที่ทำบัญชีจึงอยู่ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และตาม PDPA  ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่  1.  แจ้งการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลให้ชัดเจน เพื่อให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบ 2.  จัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม โดยจัดให้มีระบบการตรวจสอบเพื่อให้มีการลบหรือทำลาย เมื่อพ้นระยะเวลาการเก็บรักษาหรือเกินความจำเป็นตามวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล 3.  แจ้งเหตุเมื่อเกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล กรณีของสำนักงานบัญชีควรระวังเหตุการณ์ เช่น การส่งอีเมลผิด การเข้าถึงอีเมลโดยบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานควรวางระบบการควบคุมภายในของกระบวนการต่างๆ ให้รัดกุมที่สำคัญ เช่นกระบวนการในการรับลูกค้า การจัดทำและการจัดเก็บสัญญา การจัดทำกระดาษทำการ การจัดเก็บเอกสารภายหลังจากงานเสร็จสิ้นแล้ว การสื่อสารทางอีเมลหรือโดยช่องทางทางสาธารณะอื่นๆ การใช้ข้อมูลเพื่อการตลาด หรือการประมวลผลอื่นๆ ตลอดจนกระบวนการควบคุมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกลงโทษทางกฎหมายรวมทั้งผลกระทบต่อชื่อเสียงของสำนักงาน 6. บทลงโทษกรณีไม่ปฏิบัติตาม PDPA บทกำหนดโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามPDPA มีโทษทั้งทางแพ่งและอาญาและมีโทษรุนแรงถึงขั้นจำคุก โดยเฉพาะกรณีข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษจำคุกกรรมการหรือผู้บริหารและมีบทกำหนดโทษทางปกครอง โดยการตัดสินของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มสูงสุดถึง 5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรง นักบัญชีมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจและช่วยให้องค์กรใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมหาศาล  มีหน้าที่รับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในการออกแบบและกำหนดโครงสร้างในการเก็บรวบรวมมาตรการการควบคุมภายในด้านข้อมูลขององค์กรให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฏหมายกำหนด นักบัญชีจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความสมดุลระหว่างประโยชน์ในการใช้ข้อมูลและต้นทุนในการดูแลรักษาข้อมูลขององค์กร จึงควรทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมในการปฏิบัติตาม PDPA เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นสำหรับบทลงโทษ ค่าปรับตลอดจนภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีรวมไปถึงองค์กรด้วย ติดตามความรู้ทางบัญชี ภาษี ได้ที่ บทความ – PEAK Blog (peakaccount.com) PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ช่วยนักบัญชีจัดทำบัญชีได้อย่างมืออาชีพ ช่วยให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จกับโปรแกรมบัญชี PEAK peakaccount.com  ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! ครบทุกฟีเจอร์ นาน 30 วัน! คลิก อ้างอิง: PDPA คืออะไร ? – สรุป พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ต้องรู้ (t-reg.co) พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562, ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม,ธนาคารแห่งประเทศไทย PDPAและนักบัญชี, วารุณี ปรีดานนท์  5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับPDPA, TACHSAUCE

9 ก.ค. 2022

PEAK Account

14 min

AI เครื่องมือช่วยธุรกิจในยุคดิจิทัล

ปัจจุบัน  “AI”  เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก หรือไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีชนิดนี้ โดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจ AI ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในหลายๆ กิจการเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น เรามาทำความรู้จักกันดีกว่าว่าทำไมปัจจุบัน AI จึงเป็นที่ต้องการในหลายๆ ธุรกิจ และจริงหรือไม่ที่ในอนาคต AI จะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ ไปติดตามกันในบทความนี้ AI คือ อะไร AI หรือ Artificial Intelligence คือ โปรแกรมที่ถูกเขียนและพัฒนาให้มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจได้จากการประมวลผลของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันก็มีการนำ AI เข้ามาใช้ในหลากหลายธุรกิจ หลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ การบริการ การเดินทาง การตลาด  เป็นต้น หลักการทำงานของ AI การทำงานของ Artificial Intelligence นั้น สามารถแบ่งได้ 3 เรื่องใหญ่ๆ ดังนี้ คุณสมบัติ AI เทคโนโลยีแห่งโลกดิจิทัล AI เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ความต้องการในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นบุคคล องค์กระดับเล็ก ไปถึงองค์กรใหญ่ระดับต้นๆ ของประเทศ ต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี AI ใช้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น โดยคุณสมบัติการทำงานของ AI ที่สำคัญในปัจจุบันนี้ประกอบไปด้วย การทำงานอัตโนมัติ (Automation) เป็นคุณสมบัติที่ถูกพัฒนาขึ้นเเพื่อให้การทำงานสำเร็จเรียบร้อยรวดเร็วขึ้น เป็นการลดขั้นตอนและเวลาการทำงานให้น้อยลง โดยพัฒนาให้มนุษย์ทำหน้าที่ในการควบคุมสั่งการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ต่างๆ เท่านั้น จะเห็นได้ว่าขณะนี้ภาคธุรกิจมีการนำระบบหุ่นยนต์มาช่วยงานมากขึ้น เช่น  การนำหุ่นยนต์ไปช่วยทำงานในร้านอาหาร ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และลดการความผิดพลาดได้มาก การจดจำใบหน้าและระบุตัวตน (Facial Recognition)  การระบุตัวตนด้วยไบโอเมทริกซ์ ยกตัวอย่างเช่น ม่านตา เสียง ลายนิ้วมือ หน้า ภาษากาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการนำเทคโนโลยี AI ที่ใช้ไบโอเมทริกซ์ในการจดจำรูปแบบ และแยกแยะออกมาใช้เพื่อยืนยันตัวตนได้ เช่น การสแกนลายนิ้วมือเพื่อบันทึกเวลาแทนการตอกบัตร การสแกนม่านตาเพื่อเข้าใช้งานสมาร์ทโฟน เป็นต้น  การเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้าไว้ด้วยกัน (Internet of Things) ระบบ IOT หรือ Internet of Things เข้ามามีบทบาทและสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายธุรกิจ เช่น การเก็บบันทึกข้อมูลจากอุปกรณ์หนึ่งไปยังอีกอุปกรณ์ เมื่อเกิดพฤติกรรมการใช้งาน เซ็นเซอร์ก็จะเก็บข้อมูลทันที เช่น เซ็นเซอร์เปิดประตูบ้าน เปิดเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ เป็นต้น การช่วยในการตัดสินใจ (Decision Management) เทคโนโลยี AI ช่วยในการตัดสินใจเพื่อหาทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุด มีความเสี่ยงน้อยที่สุด โดยใช้เวลาน้อย ในกรณีที่มีข้อมูลที่ต้องใช้ประกอบการตัดสินใจจำนวนมาก AI ก็จะเข้ามาเป็นตัวช่วยที่ดี เช่น การทำ Personalized Marketing หรือ ระบบแนะนำสินค้าของแต่ละบุคคล เป็นต้น การประมวลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP)  NLP คือ เทคโนโลยีที่จะวิเคราะห์คำสั่งหรือความต้องการของผู้ใช้ผ่านภาษาธรรมชาติ นอกจากนี้ NLP ยังครอบคลุมถึงความสามารถในการสร้างรูปประโยคเพื่อใช้ตอบสนองผู้ใช้งานได้ เช่น โปรแกรม Siri สามารถสร้างประโยคเพื่อตอบคำถามที่เราถามได้ เป็นต้น ประโยชน์ของ AI ในการขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs จากการที่คุณสมบัติต่างๆ ของ AI ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ AI กลายเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้งานมากขึ้น ทั้งในชีวิตประจำวัน และแวดวงธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งธุรกิจ SMEs ด้วยเช่นกัน สามารถนำ AI มาใช้ประโยชน์ได้มากมาย ดังนี้ 1. เพิ่มประสิทธิภาพ และผลผลิตในการทำงาน AI  เป็นเทคโนโลยีที่สามารถทำงานในปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันเทคโนโลยี AI ยังช่วยลดงานที่ต้องทำแบบเดิมซ้ำๆ ออกไป เพื่อให้พนักงานมีเวลาไปทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น นับเป็นการช่วยให้ธุรกิจประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้สามารถสร้างประสิทธิภาพสูงสุดจากทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ได้มากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งจะช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการทำงานได้อีกด้วย 2. ทำธุรกิจได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยทำให้ขั้นตอนในการทำงานสั้นลง ใช้เวลาน้อยลง ตอบโจทย์การทำธุรกิจในยุคดิจิทัลที่ต้องการความรวดเร็ว และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอีกด้วย 3. ขยายโอกาสทางธุรกิจ สร้างช่องทางใหม่ๆ ได้อย่างลงตัว การนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลของธุรกิจ จะทำให้ผู้บริหารสามารถมองเห็นโอกาสต่อยอดทางธุรกิจใหม่ได้อีกมากมาย เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่มีบริการที่หลากหลายมากขึ้น  เป็นต้น 4. พัฒนาการให้บริการที่ดีให้กับลูกค้า การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการทำธุรกิจ หากธุรกิจสามารถรับรู้ความต้องการของลูกค้าได้ว่าลูกค้าต้องการอะไร คู่แข่งเป็นอย่างไร และสามารถนำเสนอในสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้อย่างครบถ้วน ก็จะช่วยให้ได้รับการยอมรับ และมีการขยายธุรกิจให้เติบโตได้ตามต้องการ ซึ่งเทคโนโลยี AI สามารถเข้ามาช่วยวิแคราะห์และจัดการข้อมูลในส่วนนี้ได้ 5. เพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามงาน คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของ  AI ก็คือ สามารถนำเข้าและประมวลข้อมูลจำนวนมากได้แบบเรียลไทม์ ทำให้องค์กรสามารถติดตามความเป็นไปต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีเช่นกัน รวมถึงสามารถปัญหาที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นได้อีกด้วย 6. บริหารบุคลากรได้อย่างครบวงจร ระบบ AI สามารถช่วยองค์กรพัฒนาการบริหารทรัพยากรบุคคลได้เป็นอย่างดี ครอบคลุมในทุกด้าน ตั้งแต่การสรรหาพนักงาน ซึ่ง AI สามารถสร้างประสิทธิภาพในการสรรหาพนักงานที่ใช่สำหรับองค์กร   ตลอจนสามารถวัดผลทัศนคติ  วิเคราะห์ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานแต่ละคนได้อีกด้วย การวางแผนใช้งาน  AI  ในการพัฒนาธุรกิจ การเริ่มต้นนำ AI มาใช้ในองค์กรเพื่อการพัฒนาธุรกิจ ควรเริ่มต้นจากสิ่งสำคัญ ดังนี้ 1. กำหนดวัตถุประสงค์ของการนำ AI ไปใช้ในธุรกิจ เทคโนโลยี  AI นั้น สามารถนำมาใช้ได้ในหลายภาคส่วนของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การตลาด งานขาย หรือแม้กระทั่งงานบัญชีเอง สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เริ่มต้นเรียนรู้การใช้งาน ควรเริ่มต้นจากการสำรวจปัญหาหรือความผิดพลาดที่ต้องการนำ AI เข้าไปใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว หรือจุดที่ต้องการนำ AI ไปพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจมากขึ้น ควรมีการกำหนดวัตถุประสงค์เหล่านี้ให้ชัดเจน 2. ทำความเข้าใจ AI เพื่อนำไปใช้อย่างเหมาะสม อันดับแรก ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า AI จะเข้ามาช่วยธุรกิจของเราได้อย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่ AI จะเข้ามาทดแทนนั้นเป็นในรูปแบบของลักษณะงานที่ทำซ้ำซ้อนกัน เช่น งานคีย์ข้อมูล จัดการเอกสารต่างๆ ไม่ได้เป็นการมาแทนที่คนทำงานทั้งหมด เพียงแต่บุคลากร คนทำงานในทุกส่วนต้องรู้จักปรับตัวให้สามารถใช้งาน AI และทำงานร่วมกับ AI เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเท่านั้น 3. กำหนดบทบาทของ AI ที่จะนำมาใช้ในธุรกิจ ปัจจุบัน AI มีรูปแบบการทำงานที่อยู่ในภายใต้การป้อนข้อมูลหรือคำของมนุษย์ เพราะในบางครั้งระบบต้องถูกดูเเลและตรวจเช็กโดยมนุษย์เพื่อความถูกต้อง 4. กำหนดทีมงานที่มีประสิทธิภาพ การนำความสามารถของ AI มาใช้ ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม ตั้งแต่การออกแบบและสร้างระบบ จนมาถึงการนำมาใช้งานแต่ละส่วน ต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาและข้อผิดพลาดใดๆ ติดตามความรู้ทางบัญชี ภาษี ได้ที่ บทความ – PEAK Blog (peakaccount.com) PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ช่วยนักบัญชีจัดทำบัญชีได้อย่างมืออาชีพ ช่วยให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จกับโปรแกรมบัญชี PEAK peakaccount.com  ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! ครบทุกฟีเจอร์ นาน 30 วัน! คลิก อ้างอิง AI Security เพิ่มความปลอดภัยเครือข่าย ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (cyfence.com) เทคโนโลยี AI เปลี่ยนโลกธุรกิจ SME ได้อย่างไร? | ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) (ttbbank.com)  AI ใช้อย่างไรให้เหมาะ … เพื่อธุรกิจรอดพ้นจาก Digital Disruption – สอบบัญชีธรรมนิติ(DAA) 8.ประโยชน์ของ AI กับการใช้งานในภาคธุรกิจ – อบรมออนไลน์ สพป.เพชรบูรณ์ เขต 3 (google.com) 6 เทรนด์เทคโนโลยี AI ที่ธุรกิจห้ามพลาดในปี 2022 (pwc.com) 9 ความสามารถของ AI ที่ช่วยให้ธุรกิจของคุณอยู่รอด – Riverplus ประโยชน์ของเทคโนโลยี AI กับธุรกิจในยุค Next normal – AI GEN (aigencorp.com)

18 มิ.ย. 2022

PEAK Account

29 min

5 กลยุทธ์วางระบบบัญชีของธุรกิจ SMEs แบบเหนือชั้น

ในยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่แม่นยำและรวดเร็วเพื่อการตัดสินใจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องวางกลยุทธ์เพื่อให้อยู่เหนือคู่แข่ง การวางระบบบัญชีเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยให้กิจการมีระบบบัญชีและมีระบบการควบคุมภายในที่ดี ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลทางบัญชีที่ถูกต้องทันเวลา สามารถนำไปวางแผน ตัดสินใจ ช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและเติบโตได้  ระบบบัญชี คือ อะไร ระบบบัญชี คือ ระบบการจัดเก็บข้อมูลทางบัญชี ประกอบด้วยเอกสารต่างๆ ทางบัญชี บันทึกทางการบัญชี รายงานทางบัญชีและการเงิน รวมถึงวิธีการและอุปกรณ์ที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานและการเงินของกิจการให้แก่ฝ่ายจัดการนำไปใช้ในการวางแผนและตัดสินใจ และเพื่อเสนอข้อมูลให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ รวมทั้งบุคคลภายนอกที่ต้องการใช้ข้อมูล เช่น กรมสรรพากร  วัตถุประสงค์ของการออกแบบระบบบัญชี วัตถุประสงค์ของการออกแบบระบบบัญชี  แบ่งออกเป็น 5 ด้านดังนี้ 1.  เพื่อดูแลรักษาทรัพย์สินให้ปลอดภัย ระบบบัญชีที่ออกแบบไว้เป็นอย่างดีจะช่วยรักษาทรัพย์สินให้ปลอดภัยจากการถูกขโมยหรือถูกทำลาย กระบวนการในการรักษาความปลอดภัยของระบบต้องมีการกำหนดนโยบาย ข้อมูลและวิธีดำเนินงาน การจัดให้มีระบบการป้องกันที่เหมาะสม มีการประเมินความเสี่ยงตามช่วงเวลา และต้องมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ 2.  เพื่อให้เกิดประสิทธิผลของระบบบัญชี ประสิทธิผลในการออกแบบระบบบัญชี คือ การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินที่สอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายของกิจการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันต่อเวลาและเชื่อถือได้ ระบบบัญชีที่ดีเป็นเครื่องมือสำหรับฝ่ายบริหารในการวางแผนและนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจ 3.    เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการดำเนินงาน ประสิทธิภาพในกระบวนการดำเนินงาน เป็นการใช้ข้อมูลและรายงานทางบัญชีจากระบบบัญชีมาใช้วางแผนและปะเมินเหตุการณ์ในอนาคตได้อย่างแม่นยำ บรรลุผลตามเป้าหมายที่กิจการได้วางไว้ ช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนผลิตและการให้บริการ 4.  เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามนโยบายของกิจการ การออกแบบระบบบัญชีจะช่วยให้เกิดการสนับสนุนการปฏิบัติงานในทุกกิจกรรมขององค์กร เสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันในวิธีการทำงานที่ตรงกัน การปฏิบัติงานในทุกกระบวนการธุรกิจ ได้แก่กระบวนการขาย ซื้อ  การจ่ายเงิน การรับเงิน เป็นต้น เป็นไปตามนโยบายของกิจการ  5.  เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานกำกับดูแล การออกแบบระบบบัญชีทำเพื่อตอบสนองการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ เช่น กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานประกันสังคม กรมสรรพสามิต เป็นต้น ความสำคัญของการวางระบบบัญชีที่ดี การจัดให้มีระบบบัญชีที่ดีมีความสำคัญต่อกิจการดังต่อไปนี้ 1. ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลและรายงานทางการเงินที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ มีความรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจ วางแผน และกำหนดเป้าหมายขององค์กร 2. ระบบบัญชีที่ดีเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร เพราะข้อมูลที่ได้จากระบบบัญชีจะช่วยให้เห็นว่าส่วนงานต่างๆ ดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ 3. ระบบบัญชีที่ดีช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพและสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การตลาด การบริหารทรัพยากรบุคคล การเงิน เป็นต้น 4. ระบบบัญชีที่ดีช่วยให้การเก็บรวบรวมและการประมวลผลข้อมูลมีความเป็นระบบ ช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการจัดทำบัญชี รวมทั้งเพิ่มความถูกต้องในการจัดทำบัญชีและนำเสนองบการเงินไปยังผู้ใช้งบการเงินทุกกลุ่ม  5. ระบบบัญชีที่ดีจะช่วยให้การมอบหมายงาน การควบคุมและการประสานงาน รวมทั้งการวัดผลและ การประเมินผลมีประสิทธิภาพ  6. ระบบบัญชีที่ดีเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงอันเกิดจากการทุจริต ช่วยสร้างความเชื่อถือจากผู้ใช้งบการเงินและผู้ใช้รายงานทางการเงิน สิ่งที่ควรพิจารณาในการวางระบบัญชี ในการพัฒนาและวางระบบบัญชีมีต้นทุน และมีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว จึงมีสิ่งที่กิจการควรนำมาพิจารณาดังนี้ 1. ในการวางระบบบัญชี วัตถุประสงค์ในการออกแบบต้องมีความชัดเจน ผู้ประกอบการต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทำการประเมินความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ มีการประเมินข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นจากการออกแบบระบบบัญชี 2. ระบบบัญชีของแต่ละธุรกิจมีความแตกต่างกัน การวางระบบบัญชีต้องมีความสอดคล้องกับประเภทหรือลักษณะการดำเนินงานของธุรกิจ ซึ่งจะมีผลต่อความคุ้มค่า ความยากง่าย กระบวนการและวิธีการในการออกแบบระบบบัญชี 3. เวลาที่ใช้ในการออกแบบระบบบัญชี ขึ้นอยู่กับประเภทของการวางระบบบัญชี ได้แก่ การออกแบบระบบบัญชีใหม่ทั้งหมด สำหรับกิจการที่เพิ่งเริ่มต้นดำเนินกิจการ และการวางระบบบัญชีบางส่วน สำหรับการปรับปรุงพัฒนาระบบบัญชีที่ใช้อยู่ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล ซึ่งใช้เวลามากน้อยแตกต่างกัน นอกจากนี้เวลาที่ใช้ในการออกแบบยังขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจ 4. บุคลากรที่ใช้ในการวางระบบบัญชี นอกจากนักบัญชีแล้วจำเป็นต้องอาศัยทีมพัฒนาและวางระบบจากทั้งบุคลากรภายในองค์กรและภายนอกองค์กรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับ 5. การวางระบบบัญชีควรมีเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติงานเดิมให้น้อยที่สุด เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและการใช้งานของผู้ใช้งาน เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้งานระบบบัญชียอมรับและมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้งานระบบบัญชี 6. การวางระบบบัญชีต้องมีการออกแบบเอกสารประกอบในระบบบัญชีที่เหมาะสม มีการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของระบบบัญชี แผนผังทางเดินเอกสาร รวมทั้งแผนการฝึกอบรมและติดตามผลกระทบที่เกิดจากการวางระบบบัญชี กลยุทธ์ในการวางระบบบัญชี เพื่อให้ได้ระบบบัญชีที่ดี ในการวางระบบบัญชี มีเทคนิค 5 ประการดังต่อไปนี้ 1. การวางแผนการสำรวจและวิเคราะห์ ในการเริ่มต้นวางระบบบัญชีต้องมีการวางแผนการสำรวจและวิเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วยจั้นตอนดังต่อไปนี้  1.1   การสำรวจข้อมูล ในการวางระบบบัญชี ผู้วางระบบบัญชีจะทำการสำรวจขั้นต้นเสียก่อน เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของผู้ใช้งานและฝ่ายจัดการขององค์กรรวมทั้งขอบเขตของงานที่จะต้องทำ โดยมีรายละเอียดดังนี้ ก.การวิเคราะห์สภาพปัญหาของระบบบัญชีปัจจุบัน โดยอาศัยเครื่องมือดังต่อไปนี้ ผู้วางระบบบัญชีจะเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจเอกสารของระบบงานเดิม ประกอบด้วย แบบฟอร์มหรือรายการที่ถูกสร้างขึ้นจากระบบเดิมที่ใช้เป็นหลักฐานในการบันทึกรายการค้า  เป็นการวิเคราะห์ปัญหาหรือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในกระบวนการปฏิบัติงาน โดยการสังเกตการณ์การทำงานของพนักงานในขณะปฏิบัติงาน ทำให้เห็นขั้นตอนการปฏิบัติงานและความสัมพันธ์ระหว่างส่วนงาน ในขณะเดียวกันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ออกแบบระบบกับผู้ใช้งาน เป็นการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มคนจำนวนมากด้วยคำถามที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ได้ข้อมูลจากกลุ่มคนจำนวนมากในเวลาที่รวดเร็วกว่าเครื่องมืออื่น เป็นเครื่องมือที่ทำให้ทราบข้อมูลโดยละเอียดเพื่อให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับการสังเกตพฤติกรรมของผู้ถูกสัมภาษณ์ ได้แก่ ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ ซึ่งในการสัมภาษณ์จะต้องบันทึกคำสัมภาษณ์ และสรุปข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ไว้อย่างเป็นระบบ ข้อดีของการสัมภาษณ์ คือได้รับข้อมูลตอบกลับทันทีและมีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูลโดยตรง    ข. รูปแบบและลักษณะของธุรกิจ       รูปแบบธุรกิจส่งผลต่อขั้นตอนหริอกระบวนการในการดำเนินกิจการรวมถึงการกำหนดนโยบายและวัตถุประสงค์ของแต่ละกิจการ ซึ่งจะใช้วิธีการบัญชีที่แตกต่างกันไป รูปแบบธุรกิจโดยทั่วไป ได้แก่ธุรกิจซื้อมาขายไป ธุรกิจผลิตสินค้า ธุรกิจให้บริการ ค. โครงสร้างองค์กรและการกำหนดหน้าที่ โครงสร้างองค์กรหรือผังการจัดสายงานขององค์กร แสดงให้เห็นถึงการแบ่งหน่วยงานและกำหนดความรับผิดชอบตามชนิดของงาน ซึ่งจะทำให้ทราบว่างานเริ่มต้นจากส่วนงานใด ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ใครเป็นผู้อนุมัติ เอกสารจะต้องส่งให้ใครบ้าง 1.2   การศึกษาความเป็นไปได้ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะนำมาใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อนำมาใช้พิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม ประกอบด้วย ก.      การศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิค เป็นความรู้ทางบัญชี วิธีปฏิบัติทางด้านบัญชี กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชี ความรู้ด้านบริหารธุรกิจที่ใช้ในการออกแบบระบบบัญชี สภาพแวดล้อมของระบบบัญชีเดิมและระบบบัญชีใหม่ รวมถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญของทีมออกแบบและพัฒนาระบบบัญชี ข.      การศึกษาความเป็นไปได้ด้านต้นทุนและผลตอบแทน เป็นการวิเคราะห์ผลตอบแทนจากการลงทุนวางระบบบัญชีใหม่ว่าคุ้มค่ากับต้นทุนที่เกิดขึ้นหรือไม่ ต้นทุนที่เกิดขึ้น หมายถึง ต้นทุนในการพัฒนาระบบและต้นทุนในการนำระบบบัญชีไปทดลองใช้ ส่วนผลตอบแทนวัดได้จากผลตอบแทนที่ประเมินที่เห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่ ยอดขายเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในกระบวนการทำงานน้อยลง หรือประเมินจากผลตอบแทนที่ประเมินค่าไม่ได้ ได้แก่        ส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขึ้น ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูงขึ้น มีการปรับปรุงงานบริการดีขึ้น หรือสินค้าและบริการเป็นที่รู้จักมากขึ้น ค.      การศึกษาความเป็นไปได้ด้านการปฏิบัติงาน การศึกษาความเป็นไปได้ด้านการปฏิบัติงาน เป็นการศึกษาความสามารถในการติดตั้งหรือเชื่อมต่อกับระบบปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน การลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานเมื่อนำระบบบัญชีใหม่มาใช้ รวมถึงการสนับสนุนของผู้บริหารในการวางระบบบัญชีใหม่ว่ามีมากน้อยเพียงใด ผลกระทบจากการออกแบบระบบบัญชีจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างไร ง. การศึกษาความเป็นไปได้ด้านเวลา เป็นการศึกษาเวลาที่ใช้ในการออกแบบระบบบัญชี การพิจารณาว่าระบบัญชีใหม่จะสามารถพัฒนาและพร้อมใช้งานในเวลาที่กำหนด 1.3   การจัดทำหนังสือเสนอโครงการ (Proposal)  หลังจากที่ผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการวางระบบบัญชีมีผลตอบแทนคุ้มค่ากับต้นทุนในการวางระบบ ขั้นตอนต่อไปเป็นการยื่นขออนุมัติ โดยจัดทำหนังสือเสนอโครงการเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งประกอบด้วยข้อมูลวัตถุประสงค์และขอบเขตของงาน ปัญหาและความจำเป็นของการวางระบบบัญชี แนวทางการศึกษา การวิเคราะห์ความต้องการของการวางระบบบัญชี แผนงานการออกแบบระบบบัญชี ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ  1.4 การจัดตั้งทีมงานในการวางระบบบัญชี      เมื่อข้อเสนองานได้รับอนุมัติ ทีมงานวางระบบบัญชีจะจัดตั้งกลุ่มการทำงาน มีการกำหนดขอบเขต ในการวางระบบบัญชีโดยพิจารณาถึงความเสี่ยงในด้านต่างๆ มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการวางแผน กำหนดเวลาในการวางระบบ การควบคุมและการตรวจสอบ รวมทั้งการรายงาน       2. การกำหนดความต้องการของระบบบัญชี ในการกำหนดความต้องการของระบบบัญชี ให้พิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ 2.1. ความสอดคล้องกับการปฏิบัติงานด้านบัญชี โดยพิจารณาคุณภาพของข้อมูลทางบัญชีที่ต้องการว่าเป็นไปตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและนำเสนองบการเงิน และได้รับการยอมรับจากผู้ใช้ระบบบัญชีหรือไม่ โดยจะต้องทำความเข้าใจในระบบงานเดิม พร้อมกับการกำหนดสิ่งที่จะปรับปรุงใหม่ลงไป เพื่อตอบสนองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการออกแบบระบบบัญชี ได้แก่ ผู้บริหาร นักบัญชี ผู้ตรวจสอบภายในที่ตรวจสอบกระบวนการและกิจกรรมในการควบคุม หน่วยงานภาครัฐที่ติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามข้อบังคับต่างๆ 2.2. การจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการออกแบบระบบบัญชี กิจการสามารถจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการออกแบบระบบบัญชี โดยการจัดซื้อ การพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเอง หรือการว่าจ้าง Outsource โดยพิจารณาค่าใช้จ่ายในการจัดหา ความสามารถของผู้ขายหรือผู้ให้บริการและระบบการสนับสนุนเทคโนโลยีจากผู้จำหน่าย  3. การกำหนดแนวทางในการวางระบบบัญชี แนวทางในการวางระบบบัญชี ได้แก่  3.1 การออกแบบเอกสาร แบบฟอร์ม สมุดรายวันและรายงานทางบัญชี โดยมีหลักที่ควรพิจารณาดังนี้ ก. ในการวางระบบบัญชี ต้องมีการสำรวจเอกสารจากระบบบัญชีเดิม เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบเอกสารในระบบบัญชีใหม่ ข. มีการจำแนกประเภทของเอกสารที่เกี่ยวข้องกับระบบบัญชีเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ เรียงลำดับจากแหล่งที่น่าเชื่อถือของเอกสารจากน้อยไปหามาก ได้แก่ เอกสารที่เกิดจากแหล่งภายในกิจการและกิจการนำมาใช้เอง เอกสารที่เกิดจากแหล่งภายในที่ถูกรับรองโดยบุคคลภายนอก และเอกที่สารที่เกิดขึ้นจากแหล่งภายนอก ค. เอกสารที่ออกแบบต้องมีการระบุข้อความที่จำเป็นต่างๆ ให้ครบถ้วน เช่น ชื่อเอกสาร ชื่อที่อยู่กิจการ เล่มที่และเลขที่เอกสาร วันที่ออกเอกสาร เป็นต้น 3.2 การออกแบบแผนภาพทางเดินเอกสารและการบันทึกบัญชี โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้ ก. การออกแบบแผนภาพทางเดินเอกสารและการบันทึกบัญชีทีละระบบงาน ข. การเข้าสำรวจกิจกรรมการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้การออกแบบแผนภาพทางเดินเอกสารตรงกับความต้องการมากที่สุด ค. การร่างแผนภาพทางเดินเอกสารโดยอาศัยการแบ่งแยกหน้าที่ตามแผนผังโครงสร้างองค์กร ง. การร่างแผนภาพทางเดินเอกสารต้องเน้นการอธิบายการ Flow ของเอกสารประกอบระบบ จ. หลังจากที่ได้ออกแบบแผนภาพทางเดินเอกสารแล้ว ผู้วางระบบต้องมีการทดลองปฏิบัติ เพื่อนำไปปรับใช้กับการปฏิบัติงานจริง 3.3 การออกแบบกิจกรรมการควบคุมภายใน การวางระบบบัญชีต้องมีการออกแบบกิจกรรมการควบคุมภายใน ด้วยหลักการที่ว่าเอกสารและการบันทึกบัญชีมีความถูกต้อง ได้แก่ การให้ลำดับเลขที่เอกสาร เอกสารต้องระบุผู้จัดทำและผู้อนุมัติเป็นคนละคนกัน เป็นต้น 3.4 การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของระบบบัญชี คู่มือการปฏิบัติงานของระบบบัญชี คือ รายละเอียดการปฏิบัติงานตามระบบบัญชีที่ระบุถึง วิธีการใช้คู่มือ ผังการจัดองค์กรของหน่วยงาน วัตถุประสงค์ของระบบงาน ระเบียบปฏิบัติ ผังบัญชี ระบบรายงาน การควบคุมภายในเฉพาะระบบงานที่สำคัญ แผนภาพทางเดินของเอกสาร ขั้นตอนการปฏิบัติงานโดยละเอียด เอกสารประกอบระบบบัญชี  4. การนำระบบบัญชีใหม่มาใช้ ในการนำระบบบัญชีใหม่มาใช้ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้ 4.1 การตรวจสอบความถูกต้องและทดสอบระบบบัญชี ก่อนนำระบบบัญชีใหม่ออกใช้ปฏิบัติต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำระบบบัญชีออกใช้ปฏิบัติ โดยมีขั้นตอนดังนี้ ก. การทดลองใช้เอกสาร เป็นการตรวจสอบว่าเอกสารที่ใช้ในระบบบัญชีว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ข. ตรวจสอบแผนภาพทางเดินของเอกสารและการบันทึกบัญชี ทางเดินเอกสารเริ่มตั้งแต่แหล่งกำเนิดของเอกสารจนถึงแหล่งจัดเก็บเอกสาร มีระบบการควบคุมภายในด้านเอกสารและการอนุมัติเอกสารที่เหมาะสมเพียงพอหรือไม่ ค. การทดสอบการบันทึกรายการบัญชี เป็นการตรวจสอบว่าการบันทึกรายการบัญชีมีเอกสารประกอบการบันทึกรายการบัญชีครบถ้วน เชื่อถือได้หรือไม่ ง. การทดลองการออกรายงานจากระบบบัญชีใหม่ 4.2 การเตรียมความพร้อมทางด้านเอกสาร อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และบุคลากร หลังจากมีการทดสอบระบบแล้ว กิจการควรเตรียมความพร้อมโดยจัดเตรียมแบบฟอร์มและเอกสารต่างๆ และจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เพียงพอและสามารถรองรับระบบบัญชีใหม่ให้พร้อมก่อนการนำระบบใหม่มาใช้จริง และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือควรจัดให้มีการฝึกอบรมการใช้งานระบบบัญชีใหม่และวิธีการใช้แบบฟอร์มต่างๆ ของระบบใหม่ให้แก่พนักงานผู้ใช้งานเพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถปฏิบัติงานได้รวมทั้งอบรมการใช้งานสำหรับผู้มีอำนาจอนุมัติด้วย 4.3 การนำระบบบัญชีใหม่มาใช้ในกิจการ หลังจากกิจการมีความพร้อมทั้งระบบบัญชีใหม่ เอกสาร อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และบุคลากรแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นการนำระบบบัญชีมาใช้ในกิจการ ซึ่งมีด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่ ก. แบบขนาน เป็นการนำระบบบัญชีใหม่มาใช้ควบคู่กับระบบบัญชีเดิมในช่วงเวลาเดียวกัน  ข. แบบทันที เป็นการนำระบบบัญชีใหม่มาใช้แทนระบบเก่าทันที หลังจากระบบบัญชีใหม่ได้รับการพัฒนาเสร็จแล้ว  ค. แบบทีละช่วง เป็นนำระบบบัญชีใหม่มาใช้ โดยแบ่งออกเป็นระบบย่อยๆ ทำการปรับใช้ทีละระบบจนกว่าจะครบทุกระบบ 5. การติดตามประเมินผลระบบบัญชี หลังจากกิจการนำระบบบัญชีใหม่มาใช้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผู้วางระบบบัญชีควรมีการติดตามและประเมินผลว่าระบบบัญชีใหม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยมีขั้นตอนการประเมินผลดังนี้ 5.1 การติดตามประเมินผลในการยอมรับของผู้ใช้งาน เป็นการสำรวจและวิเคราะห์การยอมรับของผู้ใช้งานสำหรับระบบบัญชีที่ได้พัฒนาขึ้นใช้ในกิจการ 5.2 การติดดามประเมินผลทางด้านประสิทธิภาพของระบบบัญชี การประเมินผลประสิทธิภาพของระบบบัญชี ต้องใช้เครื่องมือในการประเมินผลที่เหมาะสม 5.3 การติดตามประเมินผลทางด้านการควบคุมภายใน การประเมินผลทางด้านการควบคุมภายใน เป็นการติดตามกิจกรรมที่อยู่ในระบบบัญชีว่าสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในทรัพย์สินของกิจการ 5.4 การติดตามประเมินผลด้านต้นทุนและประโยชน์ที่ได้รับ เป็นการประเมินผลประโยชน์ที่ได้รับว่าคุ้มค่ากับต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพื่อจะได้ทำการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม ระบบบัญชีที่ดีไม่เพียงแต่ช่วยให้กิจการ SMEs สามารถจัดทำบัญชีและยื่นภาษีได้ครบถ้วน ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ยังทำให้กิจการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน และช่วยป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ช่วยผู้ประกอบการจัดการบัญชีอย่างเป็นระบบ รองรับการเติบโต ช่วยให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จ อ้างอิง การออกแบบระบบบัญชี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน เลานำทา ระบบบัญชี, วิไล วีระปรีย จงจิตต์ หลีกภัย ประจิต หาวัตร

13 มิ.ย. 2022

PEAK Account

12 min

3 เรื่องสำคัญช่วยบริหารสำนักงานบัญชีให้เติบโต

เชื่อว่าความใฝ่ฝันของนักบัญชีหลายๆ คนนั้น คือ การมีสำนักงานบัญชีเป็นของตัวเอง และพัฒนาจนสามารถเติบโต เป็นที่ยอมรับของลูกค้าที่มาใช้บริการ  แต่มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ในช่วงเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ปัจจุบัน สำนักงานบัญชีที่จะก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้นั้นจะต้องมีการเตรียมพร้อมในหลายๆ ด้าน ซึ่งในบทความนี้จะรวบรวมข้อมูลสำคัญๆ ไว้ในหลากหลายมุมมองด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจการ ตลอดจนเทคนิคที่จะช่วยให้สำนักงานบัญชี ประสบความสำเร็จ เป็นต้น ปัญหาสำนักงานบัญชีที่ต้องเร่งแก้ไข ในการดำเนินกิจการสำนักงานบัญชี ทุกปัญหาน้อยใหญ่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมเปิดสำนักงานบัญชี ไปจนถึงช่วงเวลาที่เปิดให้บริการจริงกับลูกค้า หากมีการเตรียมความพร้อม และมีที่ปรึกษาที่คอยให้คำแนะนำที่ดี ก็จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ 1. ต้นทุนไม่เพียงพอ สำนักงานบัญชีหน้าใหม่มักจะประสบปัญหาเรื่องการเงิน  มักมีสายป่านยาวไม่เพียงพอที่จะบริหารจัดการรายรับรายจ่ายได้อย่างลงตัว ซึ่งบางครั้งการเก็บเงินค่าบริการอาจจะต้องรอเวลา แต่ขณะเดียวกันค่ายใช้จ่ายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวัน  จะทำอย่างไรให้มีรายได้มารองรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น เรื่องของการวางแผนเรื่องการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่เจ้าของสำนักงานบัญชีต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดี 2. ขาดความรู้เรื่องการทำการตลาด สำนักงานบัญชีหลายๆ แห่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการทำการตลาดมากนัก  เพราะคิดว่าการใช้หลักการบอกเล่าปากต่อปากจากเพื่อนและครอบครัว ตลอดจนผู้ที่เคยร่วมงานเด้วย ก็น่าจะเพียงพอต่อการเปิดสำนักงานบัญชีแล้ว ผลที่ตามมาคือ การมีลูกค้าน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และผลประกอบการอาจไม่เป็นไปตามที่คาดในช่วง ในระยะแรกที่ลูกค้ายังไม่รู้จักสำนักงานบัญชีของคุณ ควรนำหลักการตลาดและการประชาสัมพันธ์มาทำให้สำนักงานบัญชีเป็นที่รู้จักมากขึ้น มิฉะนั้น อาจสร้างปัญหาต่อกระแสเงินสดของบริษัทได้เช่นกัน ดังนั้นเจ้าของสำนักงานบัญชีจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องของการตลาดมาตั้งแต่ต้น 3.  คิดค่าบริการต่ำเกินจริง สำนักงานบัญชีจำนวนมากมักใช้วิธีการกำหนดค่าบริการที่ต่ำกว่าคู่แข่งในตลาดเพราะคิดว่าจะทำให้ธุรกิจเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น แต่ในระยะยาววิ ธีการนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา ก็คือ ปริมาณงานที่มากจะไม่รองรับกับรายได้ที่ไม่เหมาะสม เกิดเป็นภาระทางการเงินที่อาจะทำให้กิจการไปต่อได้ยาก 4.  ขาดความแตกต่างในบริการ เจ้าของสำนักงานบัญชีหลายๆ แห่งเ ริ่มต้นธุรกิจด้วยการมองถึงการหากำไรเข้าบริษัท โดยไม่มีการวางแผนจะสร้างการบริการที่แตกต่างจากบริการรูปแบบเดิมๆ  ที่มีอยู่ในตลาด  ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างอาจทำทำให้ธุรกิจโดดเด่น และสร้างความน่าสนใจให้กับลูกค้า เช่น การเลือกใช้บริการโปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่มีการพัฒนาฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งนักบัญชี และผู้ประกอบการ เป็นต้น 5. ปัญหาการทำงานที่ซ้ำซ้อน ปัญหาหนึ่งที่พบมากในสำนักงานบัญชี ก็คือ การทำงานที่ซ้ำซ้อนระหว่างเจ้าของกิจการกับสำนักงานบัญชี เช่น  ในการขายสินค้าหรือบริการ ผู้ประกอบการมีการออกใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน จากนั้นผู้ประกอบการก็จะส่งเอกสารมาให้สำนักงานบัญชีบันทึกบัญชีลงในโปรแกรมบัญชีของสำนักงานอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานบัญชีก็ควรหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เช่น การใช้โปรแกรมบัญชีที่จะช่วยลดขั้นตอนการทำงานดังกล่าว เป็นต้น 6.  ขาดความเชี่ยวชาญในงานบัญชีของธุรกิจแต่ละประเภท เนื่องจากลูกค้าที่มาใช้บริการสำนักงานบัญชีนั้นมากจากหลากหลายธุรกิจ ซึ่งแต่ละธุรกิจก็จะมีลักษณะเฉพาะในการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ซึ่งหากสำนักงานบัญชีต้องการให้บริการครอบคลุมกลุ่มลูกค้าในทุกๆ ประเภท ก็ควรศึกษาธุรกิจอย่างรอบด้านด้วย 3 เทคนิคพัฒนาสำนักบัญชีในยุคดิจิทัล ในการบริหารจัดการสำนักงานบัญชีให้ประสบความสำเร็จ นอกจากจะต้องแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังต้องมีการพัฒนาทุกการทำงานให้ธุรกิจเติบโตอีกด้วย ซึ่งในบทความนี้เคล็ดลับง่ายๆ ที่จะช่วยให้สำนักงานบัญชีเติบโตมาฝากกัน สร้างแบรนด์ให้โดดเด่น เป็นที่จดจำ การสร้าง “แบรนด์” นั้น  ไม่ใช่แค่เพียงการตั้งชื่อสำนักงานบัญชีให้เก๋ ฟังแล้วสะดุดหู  หรือออกแบบโลโก้ให้สวยงามน่าประทับใจเท่านั้น หากแต่ต้องเป็นการสื่อสารถึงเอกลักษณ์ และจุดเด่นของสำนักงานบัญชีออกมาให้น่าสนใจอีกด้วย เช่น การให้บริการของเรามีความน่าประทับใจอย่างไร และจะช่วยแก้ปัญหาของลูกค้าได้อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องสื่อสารออกมาอย่างชัดเจน  สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า การสร้างประสบการณ์ที่ดีระหว่างการให้บริการเป็นเรื่องที่สำนักงานบัญชีไม่ควรมองข้าม  ต้องมีการรักษาความสัมพันธ์เป็นอย่างดีทั้งกับลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ เช่น ไม่ละเลยการตอบคำถามของลูกค้า แม้จะเป็นเพียงคำถามเล็กๆ น้อยๆ  การตรงต่อเวลา เป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าในทุกเรื่อง  และการรักษาผลประโยชน์ที่ลูกค้าควรได้รับ ให้กับลูกค้า เป็นต้น  เพราะหากลูกค้าเกิดความไม่ประทับใจในการให้บริการ ก็เปลี่ยนสำนักงานบัญชีไปเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีบทบาทอย่างมากในทุกๆ วงการ ไม่เว้นแต่วงการบัญชีเอง สำนักงานบัญชีที่รู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์กับการทำงาน ก็จะช่วยลดภาระงานที่หนักอึ้ง และยังช่วยให้ลูกค้าทำงานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เช่น การใช้โปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา หรือการเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ เพื่อป้องกันการสูญหาย หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเอกสารต่างๆ เป็นต้น Partner คู่ใจ หนึ่งหนทางสร้างความสำเร็จของสำนักงานบัญชี นอกจากจะต้องงัดไม้เด็ดเคล็ดลับต่างๆ มาสร้างความสำเร็จให้กับสำนักงานบัญชีแล้ว  ในปัจจุบันยังอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยให้สำนักงานบัญชีเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือ การหา Partner มา Support เติมในส่วนที่ตัวเองยังขาดตกบกพร่อง หรือยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์ เช่น การเป็น Partner ร่วมกับโปรแกรมบัญชีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์การทำงานของนักบัญชี และตอบโจทย์ตวามต้องการของลูกค้า หรือการเป็น Partner ร่วมกับหน่วยงานราชการ หรือสถานบันการศึกษาต่างๆ เพื่ออัปเดตข้อมูลทางบัญชีต่างๆ เป็นต้น PEAK พร้อมเป็นพันธมิตร เคียงคู่ทุกสำนักงานบัญชี หากสำนักงานบัญชีใดกำลังมองหา  Partner ที่ตอบโจทย์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย PEAK  โปรแกรมบัญชีบนคลาวด์พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะเสริมประสิทธิภาพ ลดเวลาและขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน ตลอดจนมีสิทธิพิเศษที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น PEAK โปรแกรมบัญชีอออนไลน์ ช่วยจัดการข้อมูลทางบัญชีได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอบโจทย์การทำงานของนักบัญชีในยุคดิจิทัล 

9 มิ.ย. 2022

PEAK Account

2 min

เจ้าของกิจการทำงานง่ายขึ้น ด้วย Leceipt ระบบออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับใครที่กำลังทำธุรกิจและจะต้องเกี่ยวข้องกับเอกสารประเภท e-Tax Invoice/e-Receipt ที่ต้องส่งให้ลูกค้าและกรมสรรพากรนั้น อาจจะกำลังมองหา solution ของระบบหรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ มาช่วยทำการออกเอกสารเหล่านี้ “Leceipt” ช่วยคุณได้ .โดยระบบ Leceipt นั้นคือ ระบบออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แบบเรียลไทม์ ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชั่น ซึ่งเป็นระบบที่ออกเอกสาร e-Tax Invoice/e-Receipt ในรูปแบบไฟล์ PDF (ส่งให้ลูกค้า) และ XML (ส่งให้สรรพากร) รวมถึงเอกสารทางธุรกิจในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เป็นไฟล์ PDF ซึ่งสามารถส่งเอกสารผ่านทางอีเมลและ SMS ได้ด้วย. รองรับประเภทเอกสาร e-Tax Invoice/e-Receipt ที่ระบบ Leceipt สามารถให้มีดังนี้ ✔ ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ✔ ใบเสร็จรับเงิน ✔ ใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี ✔ ใบส่งของ/ใบกำกับภาษี ✔ ใบกำกับกับภาษี Leceipt นำข้อมูลใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี, ใบเสร็จรับเงิน รวมถึงใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี จาก PEAK ไปจัดทำ e-Tax invoice & e-Receipt ในหน้าของ Leceipt และนำส่งไฟล์ XML ให้กรมสรรพากรทุกเดือน.สามารถดูวิธีการเชื่อมต่อ Leceipt เพิ่มเติมได้ โดย คลิก >>

12 พ.ค. 2022

PEAK Account

20 min

จัดการข้อมูลบัญชีแบบขั้นเทพ ด้วยเทคโนโลยี Big Data

ในโลกธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ทำให้ทุกธุรกิจจำเป็นให้ความสำคัญกับช้อมูล ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ข้อจำกัดในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ลดลงหรือหมดไป การไหลมาของข้อมูล Big Data และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจในทุกๆ ด้าน งานบัญชีเป็นงานที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททำให้มีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น งานบัญชีเป็นงานที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูล การตัดสินใจของผู้ประกอบการจะอ้างอิงจากข้อมูลทางบัญชีเป็นส่วนใหญ่ ด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนธุรกิจ การจัดการข้อมูลบัญชีอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ Big Data คืออะไร Big Data คือ ข้อมูลที่มีปริมาณที่ใหญ่มาก มีทั้งข้อมูลที่มีโครงสร้าง กึ่งมีโครงสร้าง และไม่มีโครงสร้าง Big Data จะมีการเพิ่มขนาดของข้อมูลขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น การทำงานของ Big Data จึงต้องอาศัยเทคนิคและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถรองรับข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ ซับซ้อนและหลากหลาย ลักษณะสำคัญของ Big Data Big Data เป็นข้อมูลที่ประกอบด้วย 4 ลักษณะ ได้แก่ 4V ดังนี้ 1. ปริมาณ (Volume) หมายถึง ปริมาณข้อมูลที่ผลิตและจัดเก็บมีขนาดใหญ่มากเพียงพอ  2. ความหลากหลาย (Variety) หมายถึง ข้อมูลมีความหลากหลาย ทั้งประเภทตัวหนังสือ รูปภาพ ข้อมูลเสียงที่ถูกบันทึกไว้ในรูปแบบวิดีโอ หรือไฟล์ประเภทอื่น ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากแผนกต่างๆ ขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบัญชี ฝ่ายการเงิน ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ฝ่ายบุคคล ฝ่ายจัดซื้อ เป็นต้น 3. ความเร็ว (Velocity) หมายถึง ความเร็วในการประมวลผลข้อมูลให้ทันต่อความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งข้อมูล Big Data เป็นข้อมูลในลักษณะ Real-time มีการประมวลผลอยู่ตลอดเวลาและเป็นข้อมูลที่มีความถี่ในการประมวลผลสูง  4. คุณภาพของข้อมูล (Veracity) หมายถึง คุณภาพของข้อมูลที่สามารถนำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่อได้ โดยการนำข้อมูลที่ยังไม่ผ่านการประมวลผล นำไปเข้าสู่กระบวนการประมวลผล เช่น ข้อมูลที่มาจากแหล่งต่างๆ ทางโซเชียลมีเดีย ได้แก่ Facebook, You Tube, Twitter  ซึ่งยากต่อการควบคุมคุณภาพและคัดกรองข้อมูล เข้าสู่กระบวนการทำ Data Cleansing (การทำความสะอาดข้อมูล หรือการทำข้อมูลให้สมบูรณ์) ขั้นตอนการทำงานของ Big Data  ขั้นตอนและกระบวนการทำงานของ Big Data มีดังนี้ 1. การจัดเก็บรวบรวมข้อมูล (Storage) เป็นการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล จากแหล่งต่างๆ ทั้งข้อมูลที่เป็นตัวอักษร ไฟล์เอกสาร ไฟล์รูปภาพ ไฟล์วิดีโอ ไฟล์เสียง  2. การประมวลผลข้อมูล (Processing) เป็นการนำข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้อง หรือสัมพันธ์กัน หรือให้ผลลัพธ์ที่คล้ายกัน มาเปลี่ยนเป็นรูปแบบข้อมูล เพื่อนำข้อมูลไปประมวลผล 3. การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis) หลังจากข้อมูลได้ถูกจัดกลุ่มและแยกประเภทแล้ว เป็นขั้นตอนของการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล เช่น การพยากรณ์ยอดขาย การวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า เป็นต้น การนำ Big Data มาใช้ในการจัดการข้อมูลทางบัญชี สำหรับวงการบัญชี มีการนำ Big Data มาใช้ประโยชน์ ดังต่อไปนี้ 1. ด้านบัญชีบริหาร ในองค์กร การวิเคราะห์การจัดเก็บข้อมูล Big Data (Big Data Analytics) มีบุคลากร 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Data Engineer, Data Scientist และ Data Analyst โดยในเชิงบัญชีบริหาร นักบัญชีจะเกี่ยวข้องในการช่วยทำ Data Analyst ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ สรุปผลข้อมูลในเชิงลึก และยังรวมถึงการรวบรวมข้อมูลในวงกว้างในอุตสาหกรรมเดียวกันมาเป็นแนวทางในการวางแผนกลยุทธ์ของผู้บริหาร  2. ด้านการสอบบัญชี ในวงการสอบบัญชี มีการนำ Big Data Analytics  มาใช้ใน Big 4 ซึ่งหมายถึง 4 บริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก โดยการเปลี่ยนจากวิธี Audit Sampling  มาเป็นการตรวจสอบ 100% ซึ่งจะช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ 3. ด้านการตรวจสอบภาษี ในต่างประเทศมีการนำ Big Data Analytics มาใช้ในการตรวจสอบภาษี โดยใช้ประโยชน์ในการตรวจหาความผิดปกติของผู้เสียภาษี การคำนวณประมาณการในการจัดเก็บภาษีจากพื้นที่ต่างๆ การขยายฐานภาษีไปยังแหล่งใหม่ๆ ตลอดจนความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเงินได้ของผู้เสียภาษีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก  ประโยชน์ของเทคโนโลยีที่มีต่อการบัญชี 1. ช่วยธุรกิจในการรวบรวมข้อมูลทางบัญชีที่มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนให้สะดวกและง่ายขึ้น 2. ช่วยให้การประมวลผลข้อมูลทางบัญชี มีความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และช่วยลดข้อผิดพลาดในการทำงาน 3. ช่วยให้กิจการประหยัดต้นทุนในการสรุปข้อมูลที่มีจำนวนมากให้กระชับตามลักษณะที่กิจการต้องการ สามารถจัดพิมพ์ในรูปแบบรายงานที่ต้องการ กิจการสามารถขยายการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ได้เมื่อปริมาณงานของกิจการเพิ่มขึ้น  4. ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางบัญชีให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินได้รับข้อมูลทางธุรกิจได้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น การจัดการข้อมูลทางบัญชีอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี การจัดทำบัญชีด้วยโปรแกรมบัญชีคลาวด์เป็นสิ่งที่ช่วยในการจัดการข้อมูลทางบัญชีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปรแกรมบัญชีคลาวด์มีคุณสมบัติที่ช่วยตอบโจทย์นักบัญชีในยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี ดังนี้ 1. เป็นโปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่ใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต โดยนักบัญชีหรือผู้ประกอบการสามารถเข้าใช้งานโปรแกรมได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น PC, Notebook, Tablet หรือ Smartphone มีระบบการจัดการทางบัญชีที่ครบวงจร มีระบบการบันทึกบัญชีอัตโนมัติที่ทำงานแบบเรียลไทม์ โดยผู้ใช้งานสามารถทำงานพร้อมกันได้บนฐานข้อมูลเดียวกัน  2. เป็นโปรแกรมบัญชีที่ช่วยให้งานบัญชีมีความสะดวก   คล่องตัว       ทำให้การจัดการบัญชีและภาษีเป็นไปอย่างง่ายดาย ลดขั้นตอนและเวลาในการทำงาน รวมทั้งผู้ใช้งานสามารถออกเอกสารทางบัญชี เช่น ใบเสนอราคา ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น โปรแกรมบัญชีคลาวด์ในปัจจุบันมีฟังก์ชันการใช้งานที่ง่าย แม้ผู้ประกอบการที่ไม่มีพื้นฐานทางบัญชี ก็สามารถจัดการบัญชีได้ด้วยตนเอง 3. เป็นโปรแกรมที่ผู้ใช้งานไม่ต้องลงทุนติดตั้งเซิร์ฟเวอร์                                                     โปรแกรมมีการอัปเดตให้โดยอัตโนมัติ กิจการไม่ต้องจ่ายซื้อซอฟต์แวร์เพื่ออัปเดตเวอร์ชันใหม่ จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์  4. เป็นโปรแกรมที่มีฟังก์ชันการทำงานครบถ้วนครอบ คลุมทุกระบบของธุรกิจ โปรแกรมคลาวด์ปัจจุบัน จะมีฟังก์ชันการทำงานที่ครบถ้วน ครอบคลุมการทำงานทุกระบบของธุรกิจ ทั้งระบบจัดซื้อ ระบบคลังสินค้า ระบบจัดส่ง ระบบขาย ระบบซื้อ ระบบรับ-จ่าย เป็นต้น  5. เป็นโปรแกรมที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน                                                                 โดยผู้ใช้งานสามารถปรับขยายพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามความต้องการในการใช้งาน ซึ่งต่างจากอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ไม่สามารถขยายพื้นที่ในการเก็บข้อมูลได้ 6. เป็นโปรแกรมที่มีการทำสำรองข้อมูล (Back up) โปรแกรมบัญชีคลาวด์มีการทำสำรองข้อมูลทางบัญชีให้โดยอัตโนมัติ ช่วยลดความเสี่ยงในการจัดเก็บข้อมูลไว้ในอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เพียงที่เดียว รวมทั้งลดความเสี่ยงจากข้อมูลสูญหายกรณีเกิดไฟฟ้าดับ เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือกรณีการโจมตีของมัลแวร์ที่มีโอกาสทำให้ข้อมูลสูญหายได้ทุกเมื่อ 7. มีระบบรักษาความปลอดภัยในการเช้าถึงข้อมูล โปรแกรมบัญชีคลาวด์มีระบบรักษาความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูล โดยมีการกำหนดรหัสผ่านและกำหนดผู้มีสิทธิใช้งาน ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่าการเก็บข้อมูลในอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ตัวอย่างโปรแกรมบัญชีคลาวด์ ได้แก่ PEAK เป็นโปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่มีความทันสมัย ด้วยฟีเจอร์เด่นๆ ดังต่อไปนี้ 1. ฟีเจอร์สำหรับนักบัญชี 2. ฟีเจอร์สำหรับเจ้าของกิจการ ทักษะนักบัญชีในการขับเคลื่อนข้อมูล อย่างไรก็ตามเพื่อให้จัดการข้อมูลด้วยเทคโนโลยีที่กล่าวมาเกิดความมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกเหนือไปจากการเลือกใช้โปรแกรมออนไลน์ที่ดีแล้ว นักบัญชีควรเปิดใจรับและมองเทคโนโลยีเป็นโอกาสและพัฒนาทักษะที่จำเป็นควบคู่กันไปในโลกดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล อันได้แก่ ทักษะต่างๆดังต่อไปนี้ 1. ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูล              โดยเฉพาะข้อมูลที่มีความหลากหลาย ไม่มีโครงสร้างรูปแบบตายตัว เพื่อนำมาใช้สนับสนุนในการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจของผู้ประกอบการ นักบัญชีจำเป็นต้องพัฒนาทักษะขั้นสูงในการทำงานกับข้อมูล รวมทั้งทักษะในการระบุประเด็นสำคัญ การตั้งคำถาม การออกแบบและแปลผลการวิเคราะห์ให้เหมาะสม รวมทั้งการใช้เครื่องมือใหม่ๆ เพื่อจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล ในการสนับสนุนผู้ประกอบการในการวางแผนกลยุทธ์  2. ทักษะความเข้าใจในบริบททางธุรกิจ                                                                         เป็นการพัฒนาทักษะความสามารถในการกลั่นกรองปัญหาทางธุรกิจ รวมทั้งความเข้าใจใน Data flow ของธุรกิจและความสัมพันธ์ของข้อมูลในบริบททางธุรกิจ 3. ทักษะในการสื่อสาร                                                                                              เป็นทักษะในการแปลข้อมูลเชิงลึกและสามารถสื่อสารไปยังผู้บริหารด้วยภาษาธุรกิจ และสามารถสื่อสารกับทีมงาน Big Data Analytics ได้แก่ Data Engineer และ Data Analyst  4. ทักษะทางด้านบัญชีและธุรกิจ                                                                                      นักบัญชีต้องมีความรู้ลึกในทักษะทางด้านการบัญชี และเข้าใจขอบเขตการดำเนินงานทางธุรกิจโดยถ่องแท้ 5. ทักษะในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ในองค์กรเข้าด้วยกัน                                           นักบัญชีต้องสามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ในองค์กรเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ข้อมูล การะบวนการทำงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้สามารถผลิตข้อมูลเชิงลึก และนำเสนอทางออกที่เหมาะสมตรงตามความต้องการของผู้ใช้ นำไปสู่การขับเคลื่อนทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จขององค์กร 6. ทักษะในการพัฒนาการคิดอย่างสร้างสรรค์                                              โดยนักบัญชีควรให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management)      7. ทักษะในการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) 8. ทักษะเรื่อง Data Analytics                                                                                         เป็นทักษะในการวิเคราะห์และสรุปผลข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปนำเสนอเป็นรูปแบบของแผนภูมิหรือกราฟหรือวิดีโอ (Data Visualization)            PEAK โปรแกรมบัญชีอออนไลน์ ช่วยจัดการข้อมูลทางบัญชีได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโนโลยีที่ทันสมัย ตอบโจทย์การทำงานของนักบัญชีในยุคดิจิทัล  อ้างอิง : Big Data Analytics | สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สำนักงานใหญ่) (tfac.or.th) เทคโนโลยีกับการบัญชีในยุค 4.0 – สอบบัญชีธรรมนิติ(DAA) นักบัญชีบริหารในยุคดิจิทัล | สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สำนักงานใหญ่) (tfac.or.th)

12 พ.ค. 2022

PEAK Account

23 min

เคล็ดลับสร้างพันธมิตร เพิ่มโอกาสและข้อได้เปรียบทางธุรกิจ

การทำธุรกิจในปัจจุบันมีการแข่งขันสูง คู่แข่งทางธุรกิจมีจำนวนมาก การพัฒนาเทคโนโลยีและการสื่อสารที่รวดเร็วทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่จึงเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้คือการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยการมีพันธมิตรทางธุรกิจ  พันธมิตรทางธุรกิจคืออะไร พันธมิตรทางธุรกิจ คือ การร่วมมือขององค์กรธุรกิจตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป โดยมีการนำจุดแข็งของแต่ละองค์กรมารวมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน แสดงให้เห็นว่าแต่ละองค์กรมี      บรรทัดฐานในการดำเนินงานร่วมกัน มีความเกี่ยวพันกันโดยสมัครใจ แต่ละฝ่ายมีความคาดหวังว่าแต่ละฝ่ายจะมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และมีความเข้าใจร่วมกันว่า การทำธุรกิจเพียงองค์กรเดียวยากที่จะประสบความสำเร็จด้วยข้อจำกัดในเรื่องความชำนาญ ค่าใช้จ่าย หรือ เวลา เป็นต้น รูปแบบพันธมิตรทางธุรกิจ รูปแบบพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ 1. Loose market relationship หมายถึง พันธมิตรทางธุรกิจที่เกิดจากความร่วมมือทางการตลาดอย่างหลวมๆ เป็นรูปแบบพันธมิตรทางธุรกิจที่ไม่เป็นทางการ เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากการเอื้ออำนวยของสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ ได้แก่รูปแบบพันธมิตรแบบเครือข่าย หรือ network 2. Contractual Relationship หมายถึง พันธมิตรทางธุรกิจที่มีลักษณะเป็นทางการ เกิดจากการทำสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกัน มีการรวมตัวของธุรกิจตั้งแต่สององค์กรขึ้นไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ได้แก่ การจ้างผู้รับเหมาช่วง (Subcontracting) การให้สิทธิบัตร (Licensing) การให้สิทธิการเป็นผู้แทนจำหน่าย(Franchising) เป็นต้น  3. Formalized Ownership Relationship หมายถึง พันธมิตรที่มีการจัดการด้านความเป็นเจ้าของและความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ได้แก่ การร่วมทุน (Joint ventures) ซึ่งมีความเป็นทางการมากกว่าสองรูปแบบข้างต้น และมีการกำหนดสัดส่วนความเป็นเจ้าของทางธุรกิจ 4. Formal Integration หมายถึง พันธมิตรทางธุรกิจที่รวมตัวอย่างเป็นทางการ เป็นรูปแบบที่องค์กรธุรกิจตั้งแต่สององค์กรขึ้นไปรวมตัวกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยสมบูรณ์ ได้แก่ การควบรวมกิจการและการซื้อกิจการ  (Mergers & Acquisitions) นอกจากนี้ยังมีรูปแบบพันธมิตรทางธุรกิจ ที่ช่วยสร้างจุดแข็งและข้อได้เปรียบในการแข่งขัน ได้แก่ 1. พันธมิตรต้นน้ำ เป็นรูปแบบพันธมิตรที่มีการร่วมมือในกิจกรรมขั้นแรกของการดำเนินงาน ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา, การผลิต โดยอาศัยการแลกเปลี่ยน การถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยี ซึ่งใช้กับองค์กรที่ไม่สามารถลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีเองได้โดยลำพัง โดยพันธมิตรต้นน้ำมี 3 รูปแบบดังนี้ 2. พันธมิตรปลายน้ำ เป็นรูปแบบพันธมิตรที่อาศัยข้อได้เปรียบทางการค้าหรือการตลาดของหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรร่วมกัน โดยใช้ระบบการกระจายสินค้า การพัฒนากิจกรรมในการขาย เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการทำตลาดใหม่ๆ เช่น มีการแบ่งกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ ในการขายสินค้าหรือบริการร่วมกัน หรือการที่ไม่ต้องลงทุนในรูปแบบที่เป็นตัวเงินเพิ่ม เป็นต้น 3. พันธมิตรลำน้ำ เป็นรูปแบบพันธมิตรที่มีการรวมจุดแข็งของธุรกิจต้นน้ำกับจุดแข็งของธุรกิจปลายน้ำ เช่น การรวมตัวของหน่วยงานวิจัยขององค์กรหนึ่งกัยหน่วยงานขายของอีกองค์กรหนึ่ง เป็นต้น แนวทางการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบในการแข่งขัน มีแนวทางดังนี้ 1. การวิเคราะห์แรงจูงใจในการสร้างพันธมิตร มีการพิจารณาปัจจัยที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการสร้างพันธมิตรดังต่อไปนี้ 1.1 ความไม่แน่นอนทางการตลาด (Uncertainty Market) แรงจูงใจในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เกิดจากความผันผวนของความต้องการซื้อ (Demand) และการแข่งขันอย่างรุนแรงทางธุรกิจ การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจจะก่อให้เกิดการป้องกันความเสี่ยงในการแข่งขันทางด้านราคา (Price War) การมีวงจรอายุของสินค้าสั้นลง (Shorten Product Lift Cycle) เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 1.2 การประหยัดขนาดและขอบเขตในการดำเนินธุรกิจ (Economy of Scale and Scope) ในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจจะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ได้แก่ เงินทุน ทักษะทางการตลาดและเทคโนโลยี ที่จะก่อให้เกิดการประหยัดขนาดและขอบเขตการดำเนินงานที่ทำให้ต้นทุนลดลงและการดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น 1.3 การใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทรัพยากรที่ใช้ร่วมกันได้แก่ ทรัพยากรที่จับต้องได้ (Tangible Resources) ได้แก่ เงินทุน เครื่องจักร ช่องทางการจัดจำหน่าย โครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น และทรัพยากรที่จับต้องไม่ได้(Intangible Resources) ได้แก่ ตราสินค้า (Brand Name) ภาพลักษณ์ของธุรกิจ (Corporate Image) การใช้สิทธิในการดำเนินการร่วมกัน (License) ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ (Business Connection) เป็นต้น 1.4 การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากพันธมิตร การแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ความชำนาญและเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการอยู่รอดและเกิดการเติบโตทางธุรกิจ และก่อให้เกิดการผนึกกำลัง(Synergy) ร่วมมือกันในด้านความรู้ ทักษะ ความชำนาญและเทคโนโลยี  1.5 การลดการกีดกันทางการค้า ในการค้าระหว่างประเทศที่ต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้าในหลายรูปแบบ ทั้งในรูปของภาษีและไม่ใช่การเก็บภาษีที่จะทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดพันธมิตรทางธุรกิจ 2. การเลือกจังหวะเวลาในการสร้างพันธมิตร การเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการจัดตั้งพันธมิตรทางธุรกิจ ทำให้องค์กรได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วมของพันธมิตร โดยปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกจังหวะเวลาในการจัดตั้งพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ 2.1 อำนาจการต่อรองขององค์กรที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตร โดยทั่วไปองค์กรควรเลือกเวลาในการจัดตั้งพันธมิตรในช่วงที่มีอำนาจการต่อรองสูง เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วมจัดตั้งพันธมิตร 2.2 การจัดตั้งพันธมิตรในช่วงเวลาที่ไม่มีความแน่นอนทางการตลาด ในช่วงที่การประกอบธุรกิจขององค์กรเกิดการอิ่มตัว ตลาดเกิดความผันผวนและมีการแข่งขันในระดับสูง การจัดตั้งพันธมิตรในช่วงเวลาดังกล่าวจะช่วยรับมือกับความผันผวนและช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ 3. การสรรหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Partner Search) ในการสรรหาคู่พันธมิตรทางธุรกิจ องค์กรควรพิจารณาคุณสมบัติของพันธมิตรที่ดี โดยมีลักษณะพื้นฐานดังต่อไปนี้ 3.1. คู่พันธมิตรที่สามารถช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ (Strategic Goals) โดยคู่พันธมิตรจะต้องมีสิ่งที่องค์กรไม่มีและเป็นประโยชน์ต่อองค์กร 3.2. คู่พันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ในทิศทางเดียวกัน คู่พันธมิตรไม่ควรมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างรุนแรง มิฉะนั้นการร่วมงานกันจะเป็นไปได้ยาก 3.3. คู่พันธมิตรจะต้องไม่ฉกฉวยแสวงหาผลประโยชน์จากพันธมิตร เพื่อประโยชน์ของส่วนตนแต่ฝ่ายเดียว เนื่องจากกลยุทธ์ในการจัดตั้งพันธมิตรอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยคู่พันธมิตรต้องเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน 4. การวิเคราะห์ประเมินคู่พันธมิตร (Evaluate Screen) เป็นการวิเคราะห์ประเมินพันธมิตรที่ได้สรรหามาและทำการคัดเลือก โดยการวิเคราะห์ประเมินในด้านต่างๆ ได้แก่ 4.1 ความเหมาะสมกับองค์กร ก. ความสอดคล้องในเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fit) ทั้งวัตถุประสงค์หลัก วัตถุประสงค์ในระยะยาว และทิศทางกลยุทธ์ ข. ความสอดคล้องของทรัพยากร (Resource Fit) โดยพันธมิตรทางธุรกิจจะต้องมีความรู้ ความสามารถและทรัพยากรที่ก่อให้เกิดผลการผนึกกำลัง(Synergy Effect) ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายขององค์กร ค. ความสอดคล้องของวัฒนธรรม (Cultural Fit) เป็นเรื่องของการรับรู้และเข้าใจในวัฒนธรรม ค่านิยมของแต่ละฝ่าย สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันได้  ง. ความสอดคล้องขององค์กร (Organizational Fit) คู่พันธมิตรควรต้องมีระบบบริหารจัดการที่สอดคล้องกันได้แก่ ระบบการตัดสินใจ, กลไกการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น  4.2 การสอบทานธุรกิจของคู่พันธมิตร (Partner Due Diligence) เป็นการประเมินผลทรัพย์สิน หนี้สินของบริษัทและนำมาวิเคราะห์สถานะของกิจการที่เป็นคู่พันธมิตร เพื่อให้องค์กรทราบข้อมูลที่แท้จริงที่จะใช้ในการพิจารณาความเสี่ยงว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน 4.3 การประเมินความเสี่ยงในด้านต่างๆ ของคู่พันธมิตร ได้แก่ ความเสี่ยงในด้านชื่อเสียง, ทรัพยากร,การเงิน, กฎหมาย, การปฏิบัติการ, ความขัดแย้งทางผลประโยชน์(Conflict of Interest), การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น 4.4 การประเมินสถานภาพการแข่งขันในปัจจุบันของคู่พันธมิตร เป็นการวิเคราะห์สถานภาพในการแข่งขันของคู่พันธมิตร ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 สถานภาพ คือ ก. เป็นผู้นำในธุรกิจ ที่มีความชำนาญและความสามารถในการแข่งขันสูง ข. เป็นผู้ตามในธุรกิจ ที่มีความชำนาญและความสามารถในการแข่งขันน้อย ค. เป็นผู้นำในธุรกิจอื่น แต่ต้องการขยายฐานไปสู่อีกธุรกิจหนึ่งที่ไม่มีความชำนาญ ง. เป็นผู้ตามในธุรกิจอื่น แต่เห็นโอกาสในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่องค์กรขาดความรู้ความชำนาญ 5. การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือหรือการทำสัญญา ในการตัดสินใจร่วมจัดตั้งพันธมิตร องค์กรควรกำหนดให้มีขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อจัดทำข้อตกลงและสัญญาดังมีรายละเอียดต่อไปนี้ 5.1 การขอความเห็นชอบจากผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร ในการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือหรือการทำสัญญา ก่อนอื่นต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร (Stakeholders) ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า เป็นต้น ซึ่งโดยปกติกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีความคาดหวังจากองค์กรธุรกิจที่แตกต่างกันไป และการดำเนินการของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดคุณและโทษต่อองค์กร ผู้บริหารระดับสูงหรือคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือหรือการทำสัญญาในการเข้าร่วมจัดตั้งพันธมิตร ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรด้วย เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับและให้การสนับสนุนซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินการในการจัดตั้งพันธมิตรทางธุรกิจประสบความสำเร็จ 5.2 การจัดทำแผนธุรกิจ เพื่อให้การดำเนินการในการเข้าร่วมจัดตั้งพันธมิตรมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน องค์กรควรจัดทำแผนธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย พันธกิจ (Mission) วัตถุประสงค์ แผนกลยุทธ์ แผนการดำเนินงาน รวมทั้งความต้องการและการจัดสรรทรัพยากร 5.3 การจัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding หรือ MOU) เมื่อมีการตกลงที่จะเป็นคู่พันธมิตรกัน จะมีการจัดทำ MOU เป็นหนังสือซึ่งฝ่ายหนึ่งแสดงความสมัครใจที่จะปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งและตามเงื่อนไขที่ปรากฏในหนังสือนั้นกับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่ถือว่าเป็นสัญญาผูกมัดแต่แสดงความต้องการอันแน่วแน่ของผู้ลงนามว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลงแลกเปลี่ยนดังที่ได้ระบุไว้ 5.4 การทำสัญญา (Contract) ในกรณีที่กิจการประเมินว่าการสร้างพันธมิตรมีความเสี่ยงหรือข้อผูกมัดในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา รายได้ ค่าใช้จ่าย ลูกค้า ควรทำสัญญาอย่างเป็นทางการโดยระบุเงื่อนไขของสัญญาความร่วมมืออย่างชัดเจน สำหรับประเด็นในการทำสัญญาควรครอบคลุมประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้ ก. รายละเอียดของงาน ขอบเขตความรับผิดชอบ  ข. ข้อตกลงการให้บริการ (Service Agreement) เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานการให้บริการขั้นต่ำที่ต้องปฏิบัติภายใต้สถานการณ์ทั้งที่ปกติและไม่ปกติ ค. ค่าบริการ (ถ้ามี) ควรเป็นราคาค่าบริการที่อ้างอิงจากอัตราค่าบริการที่เรียกเก็บในท้องตลาดและมีความสมเหตุสมผล ง. อายุสัญญา ข้อกำหนด เงื่อนไขการยกเลิกสัญญา รวมทั้งสิทธิในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขและต่ออายุสัญญา จ. ขอบเขตความรับผิดชอบในกรณีที่เกิดปัญหา รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาตลอดจนการชดใช้ค่าเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ฉ. การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การรักษาความลับ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ ตลอดจนบทลงโทษที่ชัดเจน ช. เงื่อนไขอื่นๆ ตามความจำเป็น เช่น สถานที่ให้บริการ การประกันภัย เป็นต้น ตัวอย่างการสร้างพันธมิตร บริษัท พียูยูเอ็น อินเทลลิเจนท์ จำกัด เป็น Start-up ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม PEAK ซึ่งเป็นโปรแกรมบัญชีออนไลน์ ปัจจุบันมีธุรกิจ SMEs ทั่วประเทศใช้งานกว่า 10,000 กิจการ และยังมีกว่า 1,000 สำนักงานบัญชีพันธมิตรและนักบัญชีอิสระ มียอดธุรกรรมในระบบกว่า 1,000,000 รายการ/เดือน คิดเป็นมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท/เดือน เป็นโปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่ช่วยให้ธุรกิจ SMEs สามารถทำธุรกิจโดยใช้ข้อมูลมาตัดสินใจ ช่วยพัฒนาระบบที่ทำให้การทำงานธุรกิจเป็นอัตโนมัติ และจัดการข้อมูลธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ระบบจัดการเอกสาร, บันทึกรับ-จ่าย, สต็อกสินค้า, บัญชี, การเงิน และภาษี ไปจนถึงการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจให้กับประเทศ  PEAK ได้รับการลงทุนจากพันธมิตรที่เป็นนักลงทุนชั้นนำระดับประเทศ คือ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารออมสิน, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทในเครือบริษัท ทรู คอร์เปอร์เรชั่น, M8VC รวมไปนักลงทุนอิสระอีกด้วย  PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ช่วยผู้ประกอบการจัดทำบัญชีได้อย่างมืออาชีพ จัดเก็บข้อมูลเป็นระบบถูกต้องและน่าเชื่อถือ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ช่วยพัฒนาธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืน ติดตามความรู้จาก โปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ peakaccount.com  ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! ครบทุกฟีเจอร์ นาน 30 วัน!  คลิก อ้างอิง พันธมิตรทางธุรกิจ(Alliance) : ทางเลือกของมหาวิทยาลัยราชภัฏ, เพชรา บุดสีทา แนวปฏิบัติเรื่องการคัดเลือกพันธมิตรทางธุรกิจของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย “พันธมิตรทางธุรกิจ” ความได้เปรียบทางการค้าที่ยั่งยืน | Money We Can พันธมิตรทางธุรกิจ การสร้างความร่วมมือและความแตกต่าง (hmong.in.th) พันธมิตรทางธุรกิจคืออะไร? (netinbag.com) วิธีหาพันธมิตรทางธุรกิจแบบไหนที่ใช่เลย | บทความ | GlobalLinker Thailand

29 ม.ย. 2022

PEAK Account

19 min

Cyber Security เทคโนโลยีสร้างความปลอดภัยในยุค Digital Transformation

ในยุคที่ Digital Transformation  เข้ามามีบทบาทในหลายๆ ธุรกิจเป็นอย่างมากนั้น สิ่งสำคัญที่ทุกๆ กิจการควรมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ก็คือ เรื่องความปลอดภัยทางข้อมูล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบดิจิทัล เนื่องจาก Digital Transformation คือ การปรับตัวให้ธุรกิจหรือองค์กรสามารถดำเนินการท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนกิจการให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น  ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางอินเทอร์เน็ตที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน Cyber Security คืออะไร? Cyber Security คือ เทคโนโลยีที่ช่วยปกป้องเครือข่าย อุปกรณ์ โปรแกรม  ตลอดจนข้อมูลจากการถูกโจมตีจากบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกิจการหรือวค์กรธุรกิจต่างๆ  ในการก้าวเข้าสู่ Digital Transformation เนื่องจากข้อมูลจำนวนมากที่ทางองค์กรเก็บรวบรวมไว้หากถูกขโมยเอาข้อมูลไป หรือถูกนำไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ข้อมูลทางการเงิน รวมไปถึงข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า และข้อมูลทางธุรกิจอื่นๆ ก็อาจสร้างความเสียหายให้กับกับองค์กรได้ ดังนั้น องค์กรจึงจำเป็นต้องมี Cyber Security เพื่อให้การดำเนินงานมีความปลอดภัย และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ความสำคัญของ  Cyber Security  เนื่องจากกการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันนั้นมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานมากขึ้น ตั้งแต่สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์แท็บเล็ตต่างๆ  ไปจนถึงการจัดเก็บข้อมูลพนักงาน และลูกค้าในระบบคลาวด์  ดังนั้นการกำหนดวิธีการปกป้องข้อมูลนี้จึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ  เนื่องจากการโจมตีทางไซเบอร์ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีความซับซ้อนมากขึ้น  อาทิ ความปลอดภัยในการซื้อของออนไลน์ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะต้องมีระบบการจัดการที่ดี ในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลทางการเงินของลูกค้า ควรมีการทำให้ลูกค้าทราบว่าองค์กรใช้ข้อมูลของตนอย่างไร ซึ่งการได้ทราบว่าว่าธุรกิจของคุณมีระบบรักษาความปลอดภัยดิจิทัลที่แข็งแกร่งนั้น จะช่วยสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้ามากขึ้นได้ ภัยคุกคามคืออะไร ภัยคุกคาม (Threat) หมายถึง สิ่งที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณสมบัติของข้อมูลด้านใดด้านหนึ่งหรือ มากกว่าหนึ่ง การกระทําที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายนี้ เราจะเรียกว่าการโจมตี (Attack) ส่วนผู้ที่ทําให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เรียกว่า ผู้โจมตี (Attacker) หรือเรียกว่า แฮคเกอร์ (Hacker)) ภัยคุกคามที่จะสร้างปัญหาให้กับธุรกิจในปัจจุบันนั้นมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน ได้แก่ Malware เป็นซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นเพื่อโจมตีทางไซเบอร์ สามารถแพร่กระจายตัวเองจนสร้างความเสียหายให้กับระบบคอมพิวเตอร์ได้ เช่น ทำให้ข้อมูลเสียหาย หรือขัดขวางการทำงานของระบบ รวมถึงการเปิดช่องให้ผู้โจมตีเข้าถึงเพื่อดำเนินการที่เป็นอันตรายอื่นๆ ได้ไม่จำกัด Ransomware เป็น Malware ประเภทหนึ่งที่ล็อกไฟล์ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายผ่านการเข้ารหัส เพื่อเรียกร้องเงินค่าไถ่จำนวนมากแลกกับการถอดรหัสและปลดล็อกไฟล์เหล่านั้น ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อข้อมูลขององค์กรอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะกู้คืนข้อมูลกลับมา Phishing                เป็นการส่งอีเมลและข้อความไปหลอกลวงเหยื่อโดยปลอมแปลงเป็นองค์กรหรือเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียง โดยมีเจตนาที่จะขโมยข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อน เช่น ข้อมูลบัตรเครดิต หรือข้อมูลแอปพลิเคชันสำคัญต่างๆ  เป็นต้น Advanced Persistent Threats (APTs) เป็นการโจมตีทางไซเบอร์แบบกำหนดเป้าหมายระยะยาวกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง โดยผู้โจมตีจะแทรกซึมเข้าไปในเครือข่ายและหลบหลีกการตรวจจับ  มักมีเป้าหมายเพื่อขโมยเงินหรือข้อมูลลูกค้า รวมทั้งการทำลายหรือขัดขวางระบบการทำงานขององค์กร Code Injection เป็นการส่งรหัสที่เป็นอันตรายไปยังระบบคอมพิวเตอร์และทำให้ระบบประมวลผลเรียกใช้รหัสนั้น จากนั้นจะใช้การแทรกโค้ดเพื่อเข้าควบคุมระบบต่างๆ เช่น เว็บเซิร์ฟเวอร์ หรือฐานข้อมูล และดำเนินการตามเป้าหมายที่ผู้โจมตีต้องการ Denial of Service (DDoS) เป็นการส่ง Traffic ปลอมจำนวนมากไปยังระบบคอมพิวเตอร์จนปริมาณการรับส่งข้อมูลเม ทำให้ผู้ใช้งานระบบที่มีสิทธิถูกต้องไม่สามารถเข้าถึงระบบการใช้งานได้ โดยผู้โจมตีสามารถทำให้ระบบช้าลงหรือหยุดทำงาน  ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงขององค์กรนั้นๆ Bots and Automated Attacks เป็นการโจมตีทางไซเบอร์ที่ดำเนินการโดยระบบอัตโนมัติที่เรียกว่า Bot ซึ่งสามารถสแกนหาช่องโหว่ของระบบจากการพยายามคาดเดารหัสผ่าน ติดระบบด้วยมัลแวร์  ตลอดจนวิธีการอื่นๆ ที่อีกมากมาย ประเภท Cyber Security ปัจจุบันทคโนโลยี Cyber Security  ได้มีการพัฒนาขึ้นมาหลายประเภทด้วยกัน ดังนี้ Network Security หรือความปลอดภัยของเครือข่าย เป็นการปกป้องเครือข่าย หรือป้องกันการถูกโจมตีและการบุกรุก Internal Networks โดยไม่ได้รับอนุญาต โดย Network Security ช่วยให้ Internal Networks มีความปลอดภัย และป้องกันการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานภายใน ซึ่งมักจัดทำโดยผู้ดูแลระบบเครือข่ายที่ใช้นโยบายเกี่ยวกับรหัสผ่าน และการเข้าสู่ระบบที่คาดเดาได้ยาก ไฟร์วอลล์ การเข้ารหัส และซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส Application Security หรือความปลอดภัยของแอปพลิเคชัน                เป็นหนึ่งในมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ใช้ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เพื่อจัดการกับภัยคุกคามภายนอกที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนการพัฒนาแอปพลิเคชัน แอปพลิเคชันจำเป็นต้องมีการอัปเดตและทดสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันจากการถูกโจมตีจากบุคคลอื่น การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ นี้ต้องใช้ผู้ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เข้ามาช่วยตรวจสอบว่าระบบแอปพลิเคชันมีความปลอดภัยแค่ไหน Cloud Security หรือความปลอดภัยบนคลาวด์ เป็นหนึ่งใน Cyber Security ที่ได้รับการพัฒนา เพื่อตรวจสอบและปกป้องข้อมูลที่จัดเก็บในระบบคลาวด์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ใช้งานว่าการจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์จะมีความปลออดภัยเช่นเดียวกับการจัดเก็บข้อมูลในอุปกรณ์ต่างๆ   Cloud Security ช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับระบบ Cloud ทั้งแบบส่วนตัว สาธารณะ และ Multi Cloud รวมถึงการปกป้องแอปพลิเคชัน API และฐานข้อมูลด้วยจุดควบคุมเดียว นอกจากนี้ การกำหนดค่าคุณสมบัติความปลอดภัยโดยเฉพาะคุณสมบัติการแยกเครือข่าย เช่น Virtual Private Cloud (VPC) ต้องมีโซลูชัน Identity and Access Management (IAM) ที่แข็งแกร่ง เพื่อกำหนดบัญชีผู้ใช้ บทบาท และนโยบายควบคุมการเข้าถึงที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพ Data Security หรือความปลอดภัยของข้อมูล  ข้อมูลคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การทำ Digital Transformation เดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะข้อมูลเป็นตัวบ่งบอกความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และสามารถนำมาคาดการณ์ความเป็นไปในอนาคตได้ ดังนั้น การป้องกันความปลอดภัยของข้อมูล จะต้องให้สิทธิ์ในการเข้าถึงได้เฉพาะผู้ที่มีสิทธิ์เท่านั้น และป้องกันไม่ให้บุคคลที่สามเข้าถึงข้อมูลโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต Operational Security หรือความปลอดภัยของการดำเนินการ เป็นกระบวนการป้องกันข้อมูลที่ถือเป็นทรัพย์สินอีกอย่างหนึ่ง และความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น การกำหนดขอบเขตในการเข้าถึงเครือข่าย และกระบวนการในการระบุว่าข้อมูลควรถูกจัดเก็บไว้ที่ไหนและอย่างไรเพื่อความปลอดภัย ซึ่งต้องวางแผนกันตั้งแต่เริ่มต้น  เพื่อป้องกันการเข้ามาสร้างความเสียหาย เช่น การลอบดักฟังเพื่อมาล้วงข้อมูลต่าง ๆ กระบวนการนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีไว้เป็นอย่างมาก Machine Learning เทคโนโลยี Machine Learning คือ การวิเคราะห์และเปรียบเทียบเชิงบริบทโดยอ้างอิงจากการเรียนรู้ของเครื่องจักร เพื่อช่วยระบุพฤติกรรมทางไซเบอร์ที่ผิดปกติหรือน่าสงสัย พร้อมจัดลำดับความสำคัญของการแจ้งเตือน จึงช่วยให้ทีมงานรักษาความปลอดภัยด้านไอทีทำงานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น API Security                API Security ช่วยปกป้องและตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีเพียงการรับส่งข้อมูลที่ต้องการเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงปลายทาง API ของเราได้ เช่นเดียวกับการตรวจจับและบล็อกการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของผู้โจมตี ซึ่งปัจจุบันมีการนำเสนอโซลูชันการป้องกัน API ที่ไม่ต้องบำรุงรักษาและสามารถปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดของ API ได้โดยอัตโนมัติ Advanced Bot Protection เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยวิเคราะห์ปริมาณการใช้ Bot เพื่อระบุความผิดปกติและพฤติกรรมของ Bot ที่ไม่ดี โดยตรวจสอบผ่านกลไกที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการรับส่งข้อมูลของผู้ใช้หรือ Bot ที่ดี รวมทั้งช่วยคัดกรองการเข้าถึงที่ไม่พึงประสงค์ตามแหล่งที่มา ภูมิศาสตร์ รูปแบบ หรือ IP ที่ถูกขึ้นบัญชีดำออกจากระบบ File Security เป็นเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยของไฟล์สามารถระบุกิจกรรมของไฟล์ที่น่าสงสัยได้โดยอัตโนมัติ เช่น ไฟล์ที่แสดงถึงความพยายามในการขโมยข้อมูล การโจมตีของ Ransomware หรือแม้แต่ความผิดพลาดของผู้ใช้ที่ลบไฟล์โดยไม่ได้ตั้งใจหรือคัดลอกไฟล์ไปยังตำแหน่งที่ไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ File Security ยังช่วยตรวจสอบการเข้าถึงของผู้ใช้ทั้งหมดอย่างต่อเนื่องไปยังระบบจัดเก็บไฟล์ขององค์กร และเก็บบันทึกรายละเอียดของกิจกรรมการเข้าถึงไฟล์ทั้งหมด รวมถึงการกำหนดผู้ใช้ที่มีสิทธิพิเศษด้วย Runtime Application Self-Protection (RASP) เป็นเทคโนโลยีที่สามารถสแกนและตรวจสอบ Source Code ของแอปพลิเคชันแบบเรียลไทม์ เพื่อตรวจจับการโจมตีที่ใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนในโค้ด เช่น การแทรกโค้ดและการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่รู้จัก นอกจากนี้ ยังช่วยตรวจจับ Traffic และพฤติกรรมของผู้ใช้ หากพบปัญหาก็จะดำเนินการบล็อกคำขอของผู้ใช้และแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้านไอทีทันที เทคนิคสร้างความปลอดภัยความปลอดภัยทางไซเบอร์    เพื่อเป็นการปกป้องธุรกิจจากการโจมตีของผู้ไม่หวังดี  คววรมดูแลองค์กรให้มีความปลอดภัยทางไซเบอร์   ควรมีการเตรียมความพร้อมรับมือเป็นอย่างดี ซึ่งในบทความนี้มีเคล็ดลับดีๆ มาฝากกัน การรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ ต้องมีการควบคุมเป็นระบบ เพื่อให้การทำ Digital Transformation เดินหน้าต่อไปอย่างปลอดภัย โดยรวมแล้ว Cyber Security เป็นสิ่งจำเป็นในการควบคุม Computer Systems จากพฤติกรรมที่น่าสงสัย ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ในปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นเรื่องง่าย ทั้งประชาชนทั่วไปและองค์กร ต่างใช้อินเทอร์เน็ตด้วยกันทั้งนั้น จึงเป็นช่องทางที่อาชญากรทางไซเบอร์สามารถเข้ามาสร้างความเสียหายได้ ดังนั้น Cyber Security จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่ส่งผลให้องค์กรที่มีการทำ Digital Transformation เดินหน้าได้อย่างไม่มีสะดุด และรับมือได้ในทุกสถานการณ์ ให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จกับโปรแกรมบัญชี PEAK peakaccount.com ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! ครบทุกฟีเจอร์ นาน 30 วัน! คลิก  อ้างอิง: Cyber Security เทคโนโลยี ที่องค์กร Digital Transformation ไม่ควรมองข้าม Cyber Security คืออะไร ทำไมทุกองค์กรที่อยากก้าวสู่ยุคดิจิทัลจึงควรใส่ใจ

15 ก.ย. 2023

PEAK Account

11 min

ใบรับรองเงินเดือนเอกสารสำคัญที่มนุษย์เงินเดือนห้ามพลาด

สงสัยกันหรือไม่ว่าใบรับรองเงินเดือนมีความสำคัญอย่างไร ออกใบรับรองเงินเดือนเองได้ไหม วันนี้เราจะพามารู้จักกับใบรับรองเงินเดือนและหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน ใบรับรองเงินเดือนสำคัญอย่างไรต่อพนักงาน ใบรับรองเงินเดือน (Salary Certificate) เป็นเอกสารสำหรับพนักงานที่ใช้เป็นหลักฐานยืนยันเงินเดือนของบุคคลหรือพนักงานจากที่ทำงานในองค์กรหรือบริษัท ซึ่งในใบรับรองเงินเดือนจะระบุอัตราเงินเดือนที่ได้รับจากบริษัทนั้นๆ โดยที่ยังไม่รวมค่าตอบแทนอื่นๆ และไม่ผ่านการหักภาษีหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ  โดยทั่วไปแล้ว บริษัทสามารถออกใบรับรองเงินเดือนให้กับพนักงานในขณะที่ยังไม่สิ้นสุดสัญญาจ้าง เพื่อสิทธิประโยชน์ของพนักงานในเรื่องของการทำธุรกรรมต่างๆได้ เช่น การยื่นเอกสารเพื่อขอวีซ่า การขอสินเชื่อกับทางธนาคาร สมัครงาน และการขอประกันสุขภาพหรือประกันชีวิต (เพื่อประเมินความเสี่ยงทางการเงินของผู้เอาประกัน) เป็นต้น  ข้อมูลในใบรับรองเงินเดือนควรมีอะไรบ้าง? การจัดทำใบรับรองเงินเดือนของแต่ละองค์กรนั้นมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่สำคัญซึ่งประกอบไปด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้ หมายเหตุ หากจำเป็นต้องระบุวัตถุประสงค์ในการออกเอกสาร ควรใส่ข้อมูลลงไปด้วย เช่น ใช้สำหรับการขอสินเชื่อ เป็นต้น หนังสือรับรองเงินเดือน สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองการทำงาน ต่างกันอย่างไร? หนังสือรับรองเงินเดือน (Salary Certificate) สลิปเงินเดือน (Pay Slip) และหนังสือรับรองการทำงาน (Employment Certificate) เป็นเอกสารที่มีความแตกต่างกันเนื่องจากมีวัตถุประสงค์และส่วนประกอบที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้ หนังสือรับรองเงินเดือนหรือใบรับรองเงินเดือน หนังสือรับรองเงินเดือนหรือใบรับรองเงินเดือน มีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองเงินเดือนของพนักงานขณะปฏิบัติงานอยู่ ณ บริษัทนั้นๆ อีกทั้งใบรับรองเงินเดือนสามารถแสดงความน่าเชื่อถือของบุคคลๆ นั้นที่ได้มีการทำงานที่บริษัทแห่งนี้ได้ โดยจะเหมาะสำหรับในการนำไปทำธุรกรรมการเงินต่างๆ นอกจากนี้หากได้มีการไปสมัครงานบริษัทใหม่บางบริษัทอาจต้องการรู้ฐานเงินเดือนเก่าก็สามารถให้เจ้าหน้าที่ HR ออกใบนี้ได้เช่นเดียวกัน สลิปเงินเดือน สำหรับสลิปเงินเดือน คือ สลิปที่มีการออกเป็นประจำทุกเดือน มีวัตถุประสงค์เพื่อที่แสดงให้เห็นว่าทางบริษัทได้มีการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานในแต่ละเดือนจริง โดยข้อมูลก็จะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะมีการจำแนกแจกแจงรายละเอียดต่างๆ เช่น เงินเดือนเท่านี้จะถูกหักออกไปเป็นประกันสังคมเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ หรือถ้าหากมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จะมีการแจ้งรายละเอียดเสร็จสรรพ หนังสือรับรองการทำงาน    สำหรับหนังสือรับรองการทำงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันสถานะการทำงานของพนักงานในองค์กรหรือบริษัท รับรองว่าพนักงานได้ทำงานอยู่ในบริษัทนั้นจริง ซึ่งสามารถใช้ในการสมัครงานในองค์กรอื่นหรือสำหรับเป็นหลักฐานในกระบวนการต่าง ๆ โดยหนังสือรับรองการทำงานจะออกด้วยเหตุผลอยู่ 2 อย่าง คือ ได้ทำงานผ่านโปรตามที่บริษัทได้มีการระบุไว้ หรือออกเมื่อสัญญาการว่าจ้างงานนั้นสิ้นสุดลงหรือได้มีการลาออก พนักงานสามารถออกใบรับรองเงินเดือนเองได้หรือไม่   พนักงานไม่สามารถออกใบรับรองเงินเดือนเองได้ หากพนักงานทำการออกเอกสารด้วยตนเองจะถือว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสาร และจงใจทุจริต ซึ่งกรณีที่พนักงานออกเอกสารด้วยตนเองอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือต่อตัวเองบุคคลเอง และอาจเสียเครดิตในการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งนี้ การออกใบรับรองเงินเดือนควรให้ฝ่าย HR (Human Resources) หรือผู้มีอำนาจทำการออกเอกสารและลงนามรับรองเอกสารฉบับดังกล่าว แม้แต่ในกรณีของ HR เองที่ต้องการใบรับรองเงินเดือนก็ไม่สามารถเซ็นรับรองบนใบรับรองการทำงานด้วยตนเองได้ จะต้องให้ผู้มีอำนาจสูงกว่าหรือเจ้าของกิจการเป็นผู้เซ็นรับรองบนเอกสารฉบับนั้น สรุปความสำคัญของใบรับรองเงินเดือน การออกใบรับรองเงินเดือนจะต้องเป็นไปตามนโยบายและข้อกำหนดขององค์กรหรือบริษัท ซึ่งต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและสอดคล้องกับความเป็นจริงของรายได้และเงื่อนไขการทำงานของพนักงาน นอกจากนี้ยังต้องเป็นเอกสารที่มีลายเซ็นจากผู้มีอำนาจในการออกหนังสือเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของเอกสารนั้นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการในกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ใบรองเงินเดือน โปรแกรมบริหารงานบุคคล แพลตฟอร์มที่ช่วยให้การบริหารจัดการงานฝ่ายบุคคลเป็นเรื่องง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการลงเวลาการงาน เอกสารและการอนุมัติ การคำนวณเงินเดือน สลิปเงินเดือน ตลอดจนรายงานต่างๆ มีการเชื่อมต่อการใช้งานร่วมกับ PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ หลังจากที่ผู้ประกอบการมีการผูกผังบัญชีกับ PEAK เมื่อมีการทำจ่ายเงินที่ HumanSoft ระบบจะส่งข้อมูลมาที่ PEAK โดย PEAK จะบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับเงินเดือนนั้นได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ   หากสนใจอ่านบทความเกี่ยวกับใบรับรองเงินเดือนหรือเรื่องเกี่ยวกับการบริหารงาน HR อื่นๆ เพิ่มเติมสามารถเข้ามาอ่านได้ที่ รวมเรื่องบริหารงานบุคคล หรือหากต้องการออกใบรับรองการทำงานให้กับพนักงานง่าย ๆ สามารถทดลองใช้งานฟรี 30 วันได้ที่ HumanSoft โปรโมชั่น สุด wow! สำหรับลูกค้าปัจจุบันที่ใช้งาน โปรแกรมบัญชีออนไลน์ PEAK สมัครใช้งาน โปรแกรมคิดเงินเดือน HumanSoft วันนี้ เฉพาะผู้ที่สมัครแพ็กเกจ Professional แบบรายปี มูลค่ามากกว่า 49,000 บาท ( รายละเอียดแพ็กเกจ เพิ่มเติม ) คุ้ม 3 ต่อ ต่อที่ 1 รับเครื่องสแกนลายนิ้วมือและใบหน้า รุ่นใหม่ล่าสุด มูลค่า 11,900 บาท ทันที ต่อที่ 2 ทดลองใช้งาน โปรแกรม HumanSoft ฟรี 30 วัน ครบทุกฟังก์ชัน ต่อที่ 3 แถมฟรี ฟังก์ชั่น E-learning & E-library จำนวน 5 บทเรียน เงื่อนไขการรับสิทธิ์ 1. สิทธิพิเศษนี้ สำหรับลูกค้าปัจจุบัน ของโปรแกรม Peak เท่านั้น 2. ลูกค้า 1 ท่าน สามารถใช้สิทธิ์ได้ 1 ครั้งเท่านั้น 3. ไม่สามารถใช้ร่วมกับส่วนลดอื่นๆ ได้ 4. ส่วนลดไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ 5. บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนด และเงื่อนไขโดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธันวาคม 2566 นี้เท่านั้น หรือจนกว่าสินค้าจะหมด

29 ม.ค. 2023

PEAK Account

8 min

จัดการบัญชีดี เพิ่มโอกาสขอสินเชื่อ/เงินทุนได้มากขึ้น

ผู้ประกอบการ SME มักเคยต้องปวดหัวกับการพยายามขอสินเชื่อธุรกิจในการขับเคลื่อนหรือขยายกิจการ หลายเจ้าประสบปัญหากู้ไม่ผ่านบ้าง ได้วงเงินไม่พอบ้าง บางครั้งอาจถูกปฏิเสธจากธนาคารโดยผู้ประกอบการเองก็ไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด หนึ่งในปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อการพิจารณาการให้สินเชื่อและเงินทุนเพื่อธุรกิจก็คือหลักฐานทางการเงินของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นงบการเงิน และรายการเดินบัญชีต่าง ๆ หลายครั้งที่จริง ๆ แล้วธุรกิจมีการหมุนเวียนเงินมากพอน่าจะผ่านการประเมิน แต่กลับถูกปฏิเสธเงินทุนเพราะไม่มีหลักฐานการเงินที่ดีพอ  ผู้ประกอบการที่ใช้ระบบบัญชีออนไลน์อย่าง PEAK Account อยู่แล้วถือว่าได้เปรียบเพราะมีผู้ช่วยจัดการบัญชีบริษัทได้อย่างง่าย ๆ โดยไม่ต้องเหนื่อย เพียงแค่กดดาวน์โหลดเอกสารงบการเงินและบัญชีจากฟังก์ชันใช้งานของ PEAK ก็นำไปเป็นหลักฐานยื่นขอเงินทุนเพื่อธุรกิจได้เลย ไม่เพียงแค่สำหรับการกู้เงินธนาคารเท่านั้น แต่ยังมีแหล่งเงินทุนเพื่อ SME อย่าง PeerPower ที่เป็นทางเลือกเช่นกัน รายละเอียดเพิ่มเติม ตรวจสอบความพร้อม บัญชีของคุณพร้อมขอเงินทุนเพื่อธุรกิจหรือยัง? เอกสารทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นงบการเงินและบัญชีบริษัทเป็นตัวช่วยประเมินว่าบริษัทมีแนวโน้มจะใช้หนี้ได้หรือไม่ บริษัทที่กู้เงินผ่านได้น่าจะต้องมีกำไรสูงหรือเปล่า? คำตอบคือไม่จริงเสมอไป เราขอยกตัวอย่างการทำบัญชีบริษัทที่ไม่ดีให้ดูก่อน บัญชีบริษัทแบบไหนเสี่ยง “กู้ไม่ผ่าน” 1. บัญชีโล่ง เดือนหนึ่ง ๆ มีเงินเข้าเงินออกแค่ไม่กี่รายการ และไม่มีรายละเอียดว่ารับมาจากไหน จ่ายไปที่ไหน บางธุรกิจในบัญชีมีแค่โอนเข้าออกหาเจ้าของธุรกิจ  ปัญหานี้พบบ่อยกับกิจการขนาดเล็กที่ไม่ได้แยกบัญชีธุรกิจกับบัญชีส่วนตัวอย่างจริงจัง เช่น เถ้าแก่ร้านออกเงินไปก่อนเพื่อซื้อวัตถุดิบ พอขายได้เงินก็เข้าบัญชีส่วนตัวอีก นาน ๆ ทีถึงจะโอนกลับคืนเข้าบัญชีบริษัท หรือผู้ประกอบการบางคนอาจต้องการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี เลยพยายามรับเงินสดโดยไม่ลงบัญชีละเอียดบัญชีโล่งแบบนี้เป็นสาเหตุให้ขอเงินทุนไม่ผ่านได้ง่าย เพราะไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันเลยว่าธุรกิจมีผลประกอบการเป็นอย่างไร 2. มีเงินโอนออกหาผู้ถือหุ้นเยอะโดยไร้สาเหตุ ถ้าเจ้าของกิจการไม่ได้มีปัญหาทางการเงินส่วนตัวจริง ๆ เคสแบบนี้มักเกิดกับธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้ทำระบบไว้ว่าตัวเจ้าของธุรกิจเองจะได้รับเงินเดือนละเท่าไหร่ อาศัยว่าต้องใช้เงินเมื่อไหร่ก็เบิกเอาจากบัญชีของบริษัท แต่ในมุมสถาบันการเงินลักษณะบัญชีแบบนี้ดูน่าสงสัย มีโอกาสทำให้ขอกู้ไม่ผ่าน ทำบัญชีแบบไหนถึงดีต่อการขอเงินทุน ก่อนอื่นเลยขอให้คิดไว้เสมอว่าสิ่งที่สถาบันการเงินหรือผู้ออกเงินกู้ต้องการก็คือหลักฐานว่าธุรกิจของเราเชื่อถือได้ มีเงินหมุนเวียนดี มีโอกาสหาเงินมาใช้หนี้คืนได้ จะทำยังไง เรามีเคล็ดลับมาบอก แยกบัญชีส่วนตัวกับบัญชีบริษัทให้ชัดเจน อาจทำได้ดังนี้ ทำรายการบัญชีบริษัทอย่างละเอียดว่ามีเงินเข้าออกไปที่ไหนบ้าง พยายามทำธุรกรรมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัตรเครดิต/เดบิตของบริษัทถ้าเป็นไปได้เพื่อให้มีหลักฐานตรวจสอบได้ง่าย แต่ถ้าต้องมีรายรับจ่ายเป็นเงินสดก็ควรลงบัญชีอย่างละเอียดพร้อมเก็บหลักฐาน ยิ่งบัญชีมีเงินหมุนเวียนสม่ำเสมอก็ยิ่งเป็นคะแนนบวกให้ขอสินเชื่อผ่านง่ายขึ้น และมีโอกาสได้เงื่อนไขเงินกู้ที่ดีกว่าด้วย ทำสัญญาการค้าทุกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ช่วยได้มากในกรณีที่ผู้ประกอบการต้องการเงินทุนมาหมุนในระหว่างรอเงินเข้าจากลูกค้า บางครั้งบริษัทอาจมียอดสั่งซื้อเข้ามาแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงิน หลายสถาบันการเงิน รวมทั้ง PeerPower เองมีผลิตภัณฑ์การเงินประเภท invoice factoring ที่ออกสินเชื่อธุรกิจหรือให้เงินทุนรูปแบบต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินหมุน โดยต้องมีหลักฐานประกอบว่าบริษัทมีคำสั่งซื้อเข้ามาจริง และมีกำหนดที่จะได้รับเงินจากลูกค้าเมื่อไหร่  สำหรับผู้ใช้งาน PEAK Account สามารถทำบัญชีให้พร้อมขอเงินทุนได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้ฟีเจอร์เหล่านี้ (1) การจัดการบนเมนูรายรับ(2) การจัดการรายงายงบกำไรขาดทุน สนใจเงินทุนเพื่อธุรกิจ สมัครเลย

19 ก.พ. 2023

PEAK Account

16 min

การวางแผนภาษีเพื่อส่งเสริมการขาย

การส่งเสริมการขายเป็นกลยุทธ์หนึ่งทางการตลาดที่กิจการใช้เพื่อจูงใจลูกค้าให้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการมากขึ้น ในการส่งเสริมการขายมีกลยุทธ์การวางแผนภาษีที่ผู้ประกอบการควรศึกษาและนำไปใช้ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง  การส่งเสริมการขายคืออะไร การส่งเสริมการขาย (Sale Promotion) หมายถึง กิจกรรมการส่งเสริมทางการตลาดประเภทหนึ่ง นอกเหนือไปจากกิจกรรมการขายโดยใช้พนักงานขาย การโฆษณา และการประชาสัมพันธ์ ที่ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อการสร้างยอดขายในทันที โดยการให้สิ่งจูงใจเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อ ได้แก่ การแจกของแถมหรือคูปอง การชิงโชค การแลกซื้อ เป็นต้น นอกจากนี้การส่งเสริมการขายยังเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดการซื้อในปริมาณที่มากขึ้นและสามารถตัดสินใจซื้อได้ทันที โดยการส่งเสริมการขายจะใช้ในการจูงใจผู้บริโภคคนสุดท้าย (Ultimate Consumers) คนกลาง (Trade) หรือพนักงานขาย (Sale Force)  วัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการขาย 1. มุ่งเน้นผู้บริโภคคนสุดท้าย 1.1 เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคทดลองซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเมื่อซื้อไปใช้แล้วเกิดการซื้อซ้ำอีก1.2 เพื่อเป็นการรักษาลูกค้าเก่าให้ยังคงใช้ผลิตภัณฑ์ต่อไป เป็นการรักษาลูกค้าไม่ให้เปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งขัน1.3 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ลูกค้าซื้อสินค้าในปริมาณที่มากขึ้น และเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกค้าไปซื้อสินค้าของคู่แข่งหรือสินค้าทดแทน1.4 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของกิจการที่อยู่ในสายการผลิตเดียวกัน เช่น การขายยาสีฟันแถมแปรงสีฟัน เป็นต้น1.5 เพื่อเป็นการเสริมแรงในการโฆษณาสินค้า โดยการส่งเสริมการขายช่วยสนับสนุนข่าวสารการโฆษณา ซึ่งจะกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าเร็วขึ้น 2. มุ่งเน้นคนกลาง 2.1 เพื่อจูงใจให้ผู้ค้าปลีกและผู้ค้าส่งสั่งสินค้าไปจำหน่าย2.2 เพื่อกระตุ้นให้ผู้ค้าปลีกให้การสนับสนุนการส่งเสริมการขายสินค้าเป็นพิเศษ  ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย (ในทางภาษี) ตามความหมายของกรมสรรพากร ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย หมายถึง รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายตามวรรคหนึ่ง หมายถึง 1. เงินอุดหนุน เงินสนับสนุน2. เงินช่วยเหลือ3. เงินส่วนลด หรือ4. เงินอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันที่ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายได้จ่ายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายที่ซื้อสินค้าที่จะนำไปขายต่อ ทั้งนี้ไม่ว่าเงินดังกล่าวจะคำนวณจากฐานการซื้อขายหรือคำนวณจากฐานอื่นใด เพื่อให้มีผลต่อการขาย การลดต้นทุน หรือลดรายจ่ายของผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่าย กฎหมายภาษีที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย กฎหมายที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย ได้แก่    1. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.118/2545 ว่าด้วยเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย                                                                                           กรณีการจ่ายรางวัล ส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆเนื่องจากการส่งเสริมการขาย 2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.1 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.118/2545 ว่าด้วยเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายรางวัล ส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย รางวัล ส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของข้อ 1 ในตารางภาษีหัก ณ ที่จ่ายข้างต้น ได้แก่ การที่บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นที่มีการขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อโดยผู้ซื้อมีวัตถุประสงค์นำสินค้าไปขายต่อ ไม่ได้นำไปใช้เอง รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้าหรือการให้บริการตามมาตรา77/1(8)แลละมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับจึงไม่ต้องนำเงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายดังกล่าวไปรวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร                         2.2  ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่40) กรณีค่าตอบแทนที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี  (1) มูลค่าของสินค้าที่แถมพร้อมกับการขายสินค้าหรือการให้บริการ ไม่ว่าสินค้าที่แถมนั้นจะเป็นสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันกับสินค้าที่ขายหรือบริการที่กระทำหรือไม่ แต่มูลค่าของสินค้าที่แถมจะต้องไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขายหรือมูลค่าของการให้บริการ                                                                   (2) มูลค่าของสินค้าที่แจกหรือให้เป็นรางวัลกับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในแต่ละวัน โดยมีมูลค่ารวมกันตามที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนกำหนด แต่มูลค่าของสินค้าที่แจกหรือให้เป็นรางวัลต้องมีมูลค่าไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขายหรือมูลค่าของการให้บริการ  3. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กิจการสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการส่งเสริมการขายมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ การวางแผนภาษีสำหรับการส่งเสริมการขาย กิจการสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการส่งเสริมการขายมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ 1. การให้ส่วนลดการค้า (Trade Discount) แก่ลูกค้า ส่วนลดการค้า หมายถึง การให้ส่วนลดทันทีที่ซื้อสินค้าจากราคาที่กำหนดไว้เพื่อเป็นการส่งเสริมการขาย เช่น ราคาสินค้า 20,000 บาท ส่วนลดการค้า 10% (20,000 x 10/100) เท่ากับ 2,000 บาท ราคาสินค้าสุทธิหลังหักส่วนลดการค้า เท่ากับ 18,000 บาท ในการให้ส่วนลดการค้า ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงผลกระทบทางภาษีด้วยดังนี้ 1.1 การให้ส่วนลดทันทีที่ขายสินค้าหรือให้บริการ ถ้าส่วนลดที่ให้เป็นส่วนลดทันทีที่ขายสินค้าหรือให้บริการต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในใบกำกับภาษี ถ้ากิจการมีสิทธิ์ในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องแสดงราคาสุทธิที่หักส่วนลดแล้ว ดังนั้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะคำนวณจากราคาสุทธิที่หักส่วนลดแล้ว  1.2 การให้ส่วนลดหลังจากขายสินค้าหรือให้บริการ                                                                           ถ้าผู้ประกอบการให้ส่วนลดหลังจากการขายสินค้าหรือให้บริการหรือหลังจากที่ออกใบกำกับภาษีไปแล้ว ได้แก่ ส่วนลดตามเป้า ส่วนลดตามยอดซื้อ กรณีนี้กิจการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคาเต็มของสินค้า                            2. การให้ส่วนลดเงินสด (Cash Discount)                                                                                                 ส่วนลดเงินสด หมายถึง ส่วนลดที่กิจการผู้ขายลดให้ลูกค้าในการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อเพื่อเป็นการจูงใจให้ ผู้ซื้อชำระเงินเร็วที่กำหนด ซึ่งมีการกำหนดไว้ในเงื่อนไขในการชำระเงิน เช่น 2/10,N/30 หมายถึง ผู้ซื้อสินค้าสามารถชำระหนี้ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับสินค้า แต่ถ้าผู้ซื้อชำระเงินภายใน 10 วันแรก จะได้รับส่วนลด 2% โดยส่วนลดเงินสด แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทได้แก่ – ส่วนลดรับ หมายถึง ส่วนลดที่ผู้ซื้อได้รับจากผู้ขาย เมื่อผู้ซื้อชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดที่ได้รับส่วนลดตามที่ได้ระบุไว้ในเงื่อนไขการชำระเงิน โดยส่วนลดรับจะทำให้ต้นทุนสินค้าที่ซื้อมาลดลง                        – ส่วนลดจ่าย หมายถึง ส่วนลดที่ผู้ขายลดให้ผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดที่ได้รับ  ส่วนลดตามที่ได้ระบุไว้ในเงื่อนไขการชำระเงิน โดยส่วนลดจ่ายจะทำให้รายได้จากการขายสินค้าลดลง 3. การให้ของแถมลูกค้า สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ไปซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนรายอื่นมาเพื่อแถม จะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สำหรับค่าสิ่งของที่ซื้อมาเพื่อแถม ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำมาใช้เป็นภาษีซื้อของกิจการได้                            โดยปกติสิ่งของที่ซื้อมาแถมถือเป็นสินค้าตามความหมายของคำว่า “สินค้า” ตามมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร และการแถมถือเป็นการจำหน่าย จ่าย โอน สินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ ซึ่งถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นที่ผู้ประกอบการไม่ต้องนำส่งภาษีขายสำหรับสินค้าที่แถมดังนี้                                                 1. มูลค่าสินค้าที่แถมต้องไม่เกินมูลค่าสินค้าที่ขายหรือมูลค่าบริการ โดยที่ของแถมไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสินค้าชนิดเดียวกันก็ได้2. ผู้ประกอบการต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับสินค้าที่ขายและสินค้าที่แถมนั้นด้วย โดยระบุรายการสินค้าที่แถมไว้ในใบกำกับภาษีฉบับเดียวกันกับสินค้าที่ขาย โดยมูลค่าของสินค้าที่แถมจะมีค่าเท่ากับศูนย์บาทซึ่งไม่ต้องนำมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี3. ผู้ประกอบการจะต้องส่งมอบสินค้าทันทีพร้อมกับการขายหรือให้บริการ หรือส่งมอบภายหลังก็ได้ (ในกรณีที่การส่งมอบภายหลังไม่ต้องออกใบกำกับภาษีซ้ำอีกรอบ) ดังที่กล่าวมาน่าจะพอเป็นแนวทางในการวางแผนภาษีการส่งเสริมการขายสำหรับผู้ประกอบการได้ ซึ่งการส่งเสริมการขายจะช่วยให้ยอดขายของกิจการสูงขึ้น ขณะเดียวกันกิจการก็ได้รับประโยชน์ทางภาษีและเสียภาษีอย่างถูกต้องด้วย ติดตามความรู้ภาษีและบัญชีจากโปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ peakaccount.comหรือเข้าใช้งานโปรแกรม คลิก เข้าสู่ระบบ PEAK                                                                               อ้างอิง ภาษีซื้อ กรณีซื้อของมาแถมให้กับลูกค้า | โปรซอฟท์ คอมเทค (prosoft.co.th)ให้ของแถมลูกค้าก็ต้องเสียภาษีขายด้วยนะ(แต่มีข้อยกเว้น) | KKN Accounting รับทำบัญชี, รับตรวจสอบบัญชี, จดทะเบียนบริษัท, รับสอนบัญชี ป.118/2545 | กรมสรรพากร – The Revenue Department (rd.go.th)บทความ ความรู้เกี่ยวกับบัญชี ภาษี ค่าส่งเสริมการขาย (businessplus.co.th)การให้ส่วนลดกับภาษีที่เกี่ยวข้อง (wayaccounting.com)

6 ก.พ. 2023

PEAK Account

10 min

การขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ โอกาสที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม

เมื่อพูดถึงการกู้เงินทำธุรกิจหลายคนอาจนึกถึงธุรกิจที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง หรืออาจมองไปว่าบริษัทที่ต้องกู้เงินคงแปลว่ากิจการไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่รู้หรือไม่ว่าการกู้เงินมาทำธุรกิจไม่ได้เป็นเรื่องของธุรกิจใหม่ หรือธุรกิจที่ขาดทุนใกล้เจ๊งเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วบริษัทที่กิจการดีจนได้ขยายธุรกิจหลายเจ้าก็ได้โอกาสมาจากการหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบการกู้ยืมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อธุรกิจ การออกหุ้นกู้ หรือการระดมทุนออนไลน์ เป้าหมายยอดนิยมอันดับหนึ่งของธุรกิจที่ต้องการหาแหล่งเงินทุน เพราะเงินทุนหมุนเวียน หรือ “เงินหมุน” คือเส้นเลือดหล่อเลี้ยงธุรกิจ หากผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจะสามารถพัฒนาธุรกิจไปได้อย่างไรบ้าง เราขอยกตัวอย่างให้ดู 1.เพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้วยการให้เครดิตเทอมที่ดึงดูดลูกค้า “ส่งงานแล้ว แต่ลูกค้ายังไม่จ่ายเงินสักที” เมื่อลูกค้าเจ้าเก่ายังไม่จ่ายเงิน ผู้ประกอบการก็ขาดเงินหมุนไปเป็นต้นทุนสำหรับรับงานใหม่ ผู้ประกอบการที่มักประสบปัญหานี้หนักกว่าใครก็คือเจ้าของธุรกิจแบบ B2B หรือธุรกิจที่ขายสินค้าล็อตใหญ่ ให้บริการเป็นโครงการกับลูกค้าธุรกิจอื่น ๆ หรือแม้แต่เจ้าของแบรนด์ที่นำสินค้าไปฝากวางขายตามห้างใหญ่ กว่าผู้ประกอบการจะได้รับเงินอาจกินเวลาเป็นเดือน ๆ หลังส่งมอบสินค้า การมีเงินทุนเพิ่มจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในกรณีนี้ได้อย่างไร เราขอยกตัวอย่างแบบนี้ “ไทยทัวร์” เป็นธุรกิจนำเที่ยว ได้รับความสนใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ OA ให้จัดทริปพาพนักงานทั้งบริษัทไปท่องเที่ยวประจำปี เป็นโครงการใหญ่มูลค่า 20 ล้านบาท เครดิตเทอม 60 วัน  ไทยทัวร์มีต้นทุนที่ต้องจ่ายค่าจองที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร  ฯลฯ รวมทั้งหมด 12 ล้านบาทที่ต้องจ่ายไปก่อน แต่กว่าลูกค้าจะชำระเงินคือ 60 วันหลังจบทริป นั่นหมายความว่าในช่วงนี้เงินทุนหมุนเวียนของไทยทัวร์จะหายไป 12 ล้านบาท สมมติว่าระหว่างรอรับเงินจากบริษัท OA ไทยทัวร์ได้งานใหญ่อีกครั้ง มูลค่า 20 ล้านบาท แต่ต้องมีต้นทุน 12 ล้านบาทเช่นเดิม เท่ากับว่าไทยทัวร์ต้องมีเงินหมุนในมืออย่างน้อย 24 ล้านบาท จึงจะสามารถรับทั้ง 2 งานนี้ได้ โดยคาดว่าจะได้กำไรโครงการละ 20-12 = 8 ล้านบาท  แต่ถ้าไทยทัวร์มีเงินหมุนไม่ถึง 24 ล้าน ก็ไม่สามารถรับงานโครงการที่ 2 ได้ กำไรจะหายไปทันที 8 ล้านบาท ไทยทัวร์สามารถออกหุ้นกู้กับ PeerPower โดยใช้ invoice ที่เรียกเก็บจากบริษัท OA จำนวน 20 ล้านบาทเป็นหลักฐาน ออกหุ้นกู้ระยะเวลา 2 เดือนด้วยดอกเบี้ย (สมมติว่า) ประมาณ 12% ต่อปี นั่นหมายความว่าในระยะ 2 เดือนนี้ไทยทัวร์จะเสียดอกเบี้ย 2% คิดเป็นเงิน 4 แสนบาท แต่จะทำกำไรได้เพิ่ม 8 ล้านบาท เมื่อหักลบกันแล้วก็ยังได้กำไรเพิ่มอยู่ 7.6 ล้านบาท 2. เพิ่มสต๊อกสินค้าเพื่อเตรียมรับโอกาส เมื่อผู้ประกอบการคาดว่าจะมีลูกค้าสั่งสินค้าเข้ามามากขึ้น แต่ธุรกิจไม่มีเงินหมุนเพียงพอที่จะสั่งสินค้ามาเก็บในสต็อกให้พอขาย หรือมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาแล้ว แต่ขาดต้นทุนการผลิตทำให้ต้องพลาดโอกาสการขายไปในกรณีนี้ การหาเงินทุนมาเพิ่มให้พอกับการสต็อกสินค้าจึงเป็นทางออกที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องพลาดโอกาสทางธุรกิจ ถึงแม้ว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการหาเงินทุน (เช่น มีดอกเบี้ยเงินกู้) แต่หากลองคำนวณดู เมื่อหักลบกับยอดขายที่จะทำได้เพิ่มขึ้นแล้วยังอาจคุ้มกับการลงทุนก็ได้ 3.นำเงินทุนไปลดต้นทุน ได้ดังนี้ เราขอยกตัวอย่างแบบนี้ ร้าน “สวีทเบเกอรี” ซื้อวัตถุดิบพวกแป้ง น้ำตาล ช็อกโกแลต มีค่าใช้จ่าย 10 ล้านบาท ใช้ผลิตขนมได้นาน 1 เดือน แต่ถ้าสวีทเบเกอรีซื้อวัตถุดิบชนิดเดียวกันนี้แบบล็อตใหญ่ปริมาณเยอะกว่าเดิม 3 เท่า จะได้ส่วนลด 20% รวมเป็นค่าใช้จ่าย 24 ล้านบาท ใช้ผลิตขนมได้นาน 3 เดือน เท่ากับว่าได้กำไรเพิ่มตั้ง 20% หรือ 6 ล้านบาท โดยไม่ต้องขึ้นราคาขาย ไม่ต้องเปลี่ยนส่วนผสม ไม่ต้องลดคุณภาพ ปัญหาคือสวีทเบเกอรีมีเงินหมุนไม่พอจะซื้อวัตถุดิบเพิ่มทีละ 24 ล้านบาท จึงมาออกหุ้นกู้กับ PeerPower จำนวน 24 ล้านบาท สมมติว่าดอกเบี้ย 12% ต่อปี คิดเป็น 3% ในระยะเวลาหุ้นกู้ 3 เดือน นั่นหมายความว่าถ้าสวีทเบเกอรีออกหุ้นกู้กับ PeerPower เมื่อรวมค่าดอกเบี้ยหุ้นกู้แล้ว ยังสามารถลดต้นทุนได้เกือบ 5.3 ล้านบาท หรือพูดได้ว่าบริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 17% ใน 3 เดือน เพียงแค่มีเงินทุนเพิ่มเท่านั้น ธุรกิจของคุณก็สามารถเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนเพื่อโอกาสทางธุรกิจทั้ง 3 แบบได้เช่นกัน โดยผู้ให้สินเชื่อหลายเจ้า รวมทั้ง PeerPower เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำใบสั่งซื้อสินค้า ใบแจ้งหนี้ หรือ invoice มาเป็นหลักฐานขอกู้เงินทุนได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน (Receivable Financing)  ธุรกิจของคุณก็สามารถเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนเพื่อโอกาสทางธุรกิจทั้ง 3 แบบได้เช่นกัน โดยผู้ให้สินเชื่อหลายเจ้า รวมทั้ง PeerPower เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำใบสั่งซื้อสินค้า ใบแจ้งหนี้ หรือ invoice มาเป็นหลักฐานขอกู้เงินทุนได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน (Receivable Financing)  แหล่งเงินกู้สำหรับธุรกิจไม่ได้มีแค่สินเชื่อธุรกิจที่ผู้ประกอบการรู้จักกันทั่วไปเท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบอื่น ๆ เช่น หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้หลักประกัน และยังกระบวนการรวดเร็วกว่าธนาคารทั่วไป เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้ประกอบการพิจารณา หากธุรกิจของคุณมีรายได้มากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน โอกาสพาธุรกิจของคุณไปให้ไกลกว่าเดิมมาถึงแล้ว สมัครระดมทุนเลยธุรกิจที่สนใจออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของ PeerPower ได้ฟรีที่นี่

25 ก.พ. 2023

PEAK Account

25 min

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการรับ-จ่ายเช็ค

ในการทำธุรกิจ นิยมชำระเงินค่าสินค้าและบริการด้วยเช็คเนื่องจากการชำระด้วยเงินสดสำหรับสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง มีความเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม ซึ่งการใช้เช็คมีหลักการในรับจ่ายอย่างไร Peak จะพาผู้ประกอบการและนักบัญชีไปหาคำตอบได้ในบทความนี้ เช็คคืออะไร เช็ค (Cheque) คือ หนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้สั่งจ่าย (Drawer) สั่งธนาคารให้ใช้ในจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับเงิน (Payee) ข้อความสำคัญบนหน้าเช็ค รูปที่ 1 ข้อความสำคัญบนหน้าเช็ค                                                                               ที่มา: บุคคล/สถาบันที่เกี่ยวข้องกับเช็ค บุคคล/สถาบันที่เกี่ยวข้องกับเช็ค ประกอบด้วย                                                            1. ผู้สั่งจ่าย เป็นผู้ที่เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคาร และลงนามสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระเงินให้แก่ผู้รับเงิน                   2. ผู้รับเงิน เป็นผู้ที่รับเช็คจากผู้สั่งจ่ายและนำเช็คที่ได้มาขึ้นเงินสดกับธนาคาร หรือนำเช็คเข้าบัญชี                                    3. ธนาคารผู้สั่งเรียกเก็บ (Sending Bank) คือ ธนาคารที่ผู้รับเงินเปิดบัญชี เมื่อผู้รับเงินนำเช็คเข้าบัญชี ถ้าเป็นเช็คของธนาคารอื่น ธนาคารผู้สั่งเรียกเก็บจะส่งข้อมูลเช็คไปเรียกเก็บกับธนาคารผู้จ่าย และเมื่อเรียกเก็บเงินได้แล้ว ธนาคารจะนำเงินเข้าบัญชีของผู้รับเงิน  4. ธนาคารผู้สั่งจ่าย (Paying Bank) คือ ธนาคารที่ผู้สั่งจ่ายเปิดบัญชี มีหน้าที่ตรวจสอบลายเซ็นของผู้สั่งจ่ายว่าเป็นไปตามเงื่อนไขการสั่งจ่ายที่ผู้สั่งจ่ายได้ทำตามข้อตกลงไว้กับธนาคาร จากนั้นธนาคารผู้สั่งจ่ายจะทำการหักเงินจากบัญชีของผู้สั่งจ่าย เพื่อทำการจ่ายเงินให้กับธนาคารของผู้รับเงิน  รูปที่ 2 บุคคล/สถาบันที่เกี่ยวข้องกับเช็ค                                                                                              ที่มา: ​​​เช็ค (Cheque) (1213.or.th) : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ข้อดีของการใช้เช็ค การใช้เช็คมีข้อดีดังต่อไปนี้                                                                                                                               1. มีความปลอดภัยมากกว่าการถือเงินสดการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น บ้าน,,รถยนต์ เป็นต้น การนำเงินสดไปซื้อมีความเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม การใช้เช็คจึงมีความปลอดภัยมากกว่าการถือเงินสดไปซื้อ 2. ช่วยป้องกันการทุจริตการใช้เช็คสามารถช่วยป้องกันการทุจริต เนื่องจากธนาคารสามารถตรวจสอบที่มาของรายการย้อนหลังได้ ทำให้ผู้รับเงินเกิดความมั่นใจมากกว่าการรับเป็นเงินสด 3. ช่วยให้ธุรกิจเกิดสภาพคล่องในการหมุนเวียนการใช้เงิน สามารถบริหารจัดการนำเงินสดไปใช้ในส่วนที่จำเป็น ประเภทของเช็ค ในทางกฎหมายเช็คมีด้วยกัน 2 ประเภทคือ                                                                                              1. เช็คผู้ถือ เป็นเช็คที่ผู้สั่งจ่ายเช็คจะระบุชื่อผู้รับเงินหรือไม่ระบุชื่อผู้รับเงินก็ได้ การที่ผู้สั่งจ่ายกรอกตัวเลขและตัวหนังสือและลงนามในเช็ค ไม่ว่าจะระบุชื่อผู้รับเงินหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก ก็ถือว่าเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้รับเงินที่ถูกระบุชื่อไว้หรือผู้ถือก็ได้                                                                     2. เช็คระบุชื่อ เป็นเช็คที่ผู้สั่งจ่ายเช็คระบุชื่อผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า ”หรือผู้ถือ” ออก เช็คดังกล่าวธนาคารจะจ่ายเงินให้กับผู้ที่ถูกระบุชื่อเป็นผู้รับเงินแต่เพียงผู้เดียว ในการสั่งจ่ายเช็คโดยไม่ได้ระบุชื่อผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า ”หรือผู้ถือ” ออก ถือว่าเป็นเช็คระบุชื่อ แต่เป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายเพราะไม่มีชื่อผู้รับเงิน กรณีนี้เช็คจะถูกปฏิเสธจากธนาคาร กรณีที่ผู้สั่งจ่ายกรอกคำว่า ”เงินสด” ในช่อง ‘จ่าย……………………หรือผู้ถือ” ก็ถือว่าเป็นเช็คระบุชื่อ แต่เป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายเพราะคำว่า” เงินสด” ไม่ใช่ชื่อผู้รับเงิน นอกจากนี้เช็คยังแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการใช้งานตามธุรกรรมทางการเงินได้แก่ 1. แคชเชียร์เช็ค                                                                                                        เป็นเช็คที่ลูกค้าที่ชำระเงินสดให้ธนาคารก่อน แล้วธนาคารจะออกเช็คของธนาคารให้กับลูกค้า เรียกว่า แคชเชียร์เช็ค แล้วลูกค้านำไปมอบให้ผู้รับเงินเอง ซึ่งไม่มีความเสี่ยงในการเกิดเช็ตเด้ง                            2. เช็คเดินทาง                                                                                                                    เป็นเช็คที่ผู้เดินทางนำหลักฐานการเดินทางได้แก่ ตั๋วเครื่องบินหรือพาสปอร์ต มาขอซื้อเช็คกับธนาคารเพื่อนำไปเบิกเงินสดในต่างประเทศ 3. ดราฟท์ธนาคาร เป็นตั๋วแลกเงินที่ธนาคารหนึ่งมีคำสั่งให้อีกธนาคารหนึ่งจ่ายเงินที่กำหนดให้แก่บุคคลที่ถูกระบุชื่อไว้บน ดราฟท์ 4. เช็คขีดคร่อม เป็นเช็คที่เขียนเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้หน้าเช็ค โดยผู้รับเงินต้องนำเช็คฝากเข้าบัญชีก่อนที่จะเบิกเป็นเงินสด โดยเช็คขีดคร่อมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ก. เช็คขีดคร่อมทั่วไปเป็นเช็คขีดคร่อมที่สามารถนำฝากเข้าบัญชีของธนาคารใดก็ได้ ได้แก่ – เช็คขีดคร่อม&Co มี 2 กรณี คือถ้าเป็นเช็คที่ระบุ ”หรือผู้ถือ” ผู้รับเงินสามารถนำฝากเช็คเข้าบัญชีที่ธนาคารใดก็ได้ถ้าเป็นเช็คที่ระบุ ”หรือตามคำสั่ง” ต้องนำเช็คเข้าบัญชีผู้รับเงินที่ระบุในเช็ค หรือถ้าเข้าบัญชีผู้อื่นต้องมีการโอนสลักหลังเช็คนั้นด้วย – เช็คขีดคร่อมA/C Payee Only เป็นเช็คที่ต้องนำฝากเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อที่ระบุไว้หน้าเช็คเท่านั้น ไม่สามารถโอนต่อไปได้ด้วยการสลักหลัง ข. เช็คขีดคร่อมเฉพาะคือ เช็คที่ระบุชื่อธนาคารไว้ในเส้นขนานและผู้รับเงินต้องนำเช็คฝากเข้าบัญชีธนาคารตามที่ระบุไว้ การโอนเช็คและการสลักหลัง การโอนเช็ค – เช็คจ่ายผู้ถือ สามารถโอนเปลี่ยนมือได้โดยการส่งมอบเช็คให้แก่ผู้รับ โดยผู้ใดก็ตามที่เป็นผู้ถือเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคาร ธนาคารจะจ่ายเงินสดให้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีการสลักหลังเหมือนอย่างเช็คระบุชื่อแต่อย่างใด – เช็คระบุชื่อ สามารถโอนเปลี่ยนมือได้โดยการสลักหลังส่งมอบให้แก่ผู้รับโอน การสลักหลัง การสลักหลัง เป็นการเขียนข้อความพร้อมกับลงลายมือชื่อ หรือลงลายมือชื่ออย่างเดียวที่ด้านหลังของเช็คเพื่อแสดงการโอนเช็ค การสลักหลังมีด้วยกัน 2 แบบ คือ 1 .การสลักหลังเฉพาะ เป็นการสลักหลังเช็คที่ระบุชื่อผู้รับโอน พร้อมทั้งลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง การสลักหลังถ้าจะโอนเช็คให้เฉพาะตัว สามารถระบุการห้ามสลักหลังต่อไว้ได้                                                                                                                               2. การสลักหลังลอย เป็นการสลักหลังเช็คที่ลงลายมือชื่อผู้สลักหลังเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้รับโอน            ข้อควรรู้เกี่ยวกับเช็ค                                                                                                                                  สำหรับผู้สั่งจ่ายเช็ค 1. การเขียนเช็คควรใช้ปากกาหมึกสีดำหรือสีน้ำเงิน ไม่ควรใช้ปากกาหมึกสีสะท้อนแสง ปากกาหมึกซึมหรือดินสอ2. การกรอกตัวเลขจำนวนเงินควรกรอกให้ชิดกับสัญญลักษณ์  ‘฿ ”  หรือเขียนเครื่องหมาย  “=” หน้าตัวเลขเพื่อป้องกันการเติมตัวเลขข้างหน้า3. หลีกเลี่ยงการแก้ไขข้อมูลบนหน้าเช็คเพื่อป้องกันการทุจริตจากการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ในกรณีที่จำเป็นต้องแก้ไขข้อความ ผู้สั่งจ่ายควรขีดฆ่าข้อความที่ต้องการแก้ไขทั้งหมดและลงลายมือชื่อกำกับในการแก้ไข ไม่ควรใช้น้ำยาลบคำผิด4. ต้องเตรียมเงินในบัญชีให้เพียงพอสำหรับการชำระเงินตามวันที่ที่ระบุในหน้าเช็ค เพราะการเรียกเก็บเงินตามเช็คทั่วประเทศ สามารถทำได้ภายใน 1 วันทำการ (ระบบICAS)    สำหรับผู้รับเช็ค 1. ถ้าทำเช็คหาย ต้องรีบแจ้งผู้สั่งจ่ายเช็คให้ระงับการจ่ายเงินทันที และให้ผู้รับเช็คแจ้งความเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงบันทึกประจำวันและนำสำเนาบันทึกแจ้งความส่งให้แก่ผู้สั่งจ่ายเพื่อเป็นหลักฐานยื่นต่อธนาคารในการระงับการจ่ายเงินตามเช็คที่สูญหาย และออกเช็คฉบับใหม่แทน 2.กรณีที่เกิดเช็คเด้ง หมายถึง ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเมื่อผู้รับเช็คนำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคาร เนื่องจากเช็คที่ได้รับมีเงินในบัญชีไม่พอ ธนาคารจะคืนเช็คให้แก่ผู้รับเช็คๆ ควรรีบติดต่อผู้สั่งจ่าย เพื่อตรวจสอบเงินในบัญชีก่อนนำเช็คฝากเรียกเก็บใหม่ โดยผู้สั่งจ่ายต้องเสียค่าปรับเช็คคืนให้กับธนาคารผู้จ่ายด้วย 3. ในการดูแลรักษาเช็ค ไม่ควรพิมพ์ เขียน ขูด ลบหรือประทับตราบริเวณที่เป็นแถบว่างตรงส่วนล่างสุดของเช็คและหลีกเลี่ยงการเจาะ การพับเช็ค หรือทำให้เช็คเปียกชื้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง     ระบบ ICAS คืออะไร ระบบ ICAS (Imaged Cheque Clearing and Archive System) เป็นระบบการเรียกเก็บเงินตามเช็คระหว่างธนาคารของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยใช้ภาพเช็คแทนการใช้ตัวเช็คจริง ซึ่งให้บริการตั้งแต่ปี 2555-กรกฎาคม 2565และโอนย้ายงานให้บริการไปยังบริษัท NITMX ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป    กระบวนการเรียกเก็บเงินตามเช็คในระบบ ICAS ระบบ ICAS มีกระบวนการทำงานดังนี้ 1. เมื่อลูกค้านำเช็คเข้าฝากที่ธนาคาร ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บจะสแกนภาพเช็คทั้งด้านหน้าและด้านหลังและส่งข้อมูลของเช็คทางออนไลน์ไปที่ศูนย์หักบัญชีของธปท.เพื่อคัดแยกภาพเช็คและข้อมูลส่งต่อให้ธนาคารผู้จ่าย เพื่อตรวจสอบและอนุมัติการจ่ายเงินตามเช็ค 2. กรณีที่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน ธนาคารผู้จ่ายจะแจ้งผลเช็คคืนทางบัญชีไปยังศูนย์หักบัญชีเพื่อแจ้งต่อไปยังธนาคารผู้เรียกเก็บ จากนั้นธนาคารผู้เรียกเก็บจะนำส่งเช็คคืนเป็นเช้คตัวจริงพร้อมใบแจ้งผลการคืนเช็คให้แก่ลูกค้า                                                                                                                                                                                                          ข้อดีของระบบICAS สำหรับผู้สั่งจ่ายเช็ค ก. ข้อมูลสำคัญในภาพเช็คมีความชัดเจนและตรวจสอบได้ แต่ผู้สั่งจ่ายต้องทำการยกเลิกเงื่อนไขการสั่งจ่ายที่ใช้ตราประทับ/ตรานูน/ตราสี มิฉะนั้นจะเป็นภาระของผู้สั่งจ่ายที่ต้องจัดทำหนังสือยืนยันการสั่งจ่ายให้กับธนาคารและมีขั้นตอนการตรวจสอบเพิ่มเติมที่ทำให้การจ่ายเงินตามเช็คล่าช้า                                      ข. กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเช็คที่สั่งจ่ายไปและต้องการดูต้นฉบับ มีขั้นตอนการติดต่อคือลูกค้าสามารถติดต่อขอเช็คจากธนาคารที่เปิดบัญชี โดยธนาคารจะประสานงานกับธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บซึ่งจะต้องจัดส่งเช็คต้นฉบับให้แก่ผู้ขอภายใน 30 วันปฏิทินนับจากวันที่ได้รับคำขอ                                                                                                                                                         สำหรับผู้รับเช็ค ก. สามารถเรียกเก็บและถอนใช้เงินตามเช็คทั่วประเทศได้เร็วขึ้น โดยใช้เวลาภายใน 1 วันทำการซึ่งรวมไปถึงการเรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามจังหวัดด้วยและได้รับความสะดวกจากการที่ธนาคารขยายระยะเวลาการรับฝากเช็คข. ธนาคารขยายเวลาการรับฝากเช็คเพิ่มขึ้น จากในอดีตที่ธนาคารปิดรับฝากเช็คเวลา13.00-14.00น.จะขยายเวลาปิดเป็น 15.30น.ค. ลูกค้าสามารถถอนใช้เงินตามเช็คที่ฝากได้เร็วขึ้นจากเดิมที่ประมาณเวลา 13.00น.-14.00น. เป็น 12.00น.                           ทางเลือกอื่นนอกเหนือการใช้เช็ค อย่างไรก็ตามในปัจจุบันธุรกิจมีทางเลือกอื่นในการชำระค่าสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง นอกเหนือจากการใช้เช็ค ได้แก่  1. การโอนเงินออนไลน์ผ่านระบบ Mobile Application ของธนาคาร    วิธีนี้ในปัจจุบันเป็นที่นิยม มีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการทำธุรกรรม                                                   2. การใช้บัตรเครดิต ธุรกิจสามารถใช้บัตรเครดิตในการจ่ายค่าสินค้าและบริการได้ ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่าการใช้เงินสดในการจ่ายซื้อสินค้าและบริการ นอกจากนี้ยังใช้ในการทำธุรกรรมในการซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้                                                                                                                                                     เมื่อผู้ประกอบการและนักบัญชีมีความเข้าใจเรื่องของเช็คแล้ว การใช้เช็คก็จะเป็นตัวกลางที่ผู้รับเช็คสามารถนำไปขึ้นเงินสดได้ โดยที่มีความปลอดภัยและสะดวกสบายในการย่อเงินสดจำนวนมากลงในกระดาษแผ่นเดียว ติดตามความรู้ทางธุรกิจ บัญชีและภาษี ได้ที่ บทความ – PEAK Blog (peakaccount.com)                                                                                                                    PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ช่วยผู้ประกอบการจัดทำบัญชีและภาษีได้อย่างมืออาชีพ ให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จกับโปรแกรมบัญชี PEAK                                                                                                                                                                                      ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่                                                                              สอบถามเพิ่มเติม คลิก  nbsp;                                                                         อ้างอิง: ข้อควรรู้ที่ทำให้คุณใช้เช็คได้อย่างสบายใจ (bot.or.th) นานาสาระน่ารู้เกี่ยวกับเช็ค คุณรู้จัก เช็ค ดีพอหรือไม่? | myAccount Cloud (myaccount-cloud.com) ​​​เช็ค (Cheque) (1213.or.th) เช็ค = เงินสดหรือไม่? ใครสงสัยเรามีความจริงมาบอก (krungsri.com)                    

23 ก.พ. 2023

PEAK Account

3 min

PeerPower ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ผ่าน Crowdfunding

รู้หรือไม่ กว่า 70% ของผู้ประกอบการในไทยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ?  การระดมทุนแบบ Crowdfunding จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นในรูปแบบที่ต่างจากธนาคารและสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการจึงไม่ถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์แบบเดิมๆ และสามารถนำเงินที่ได้จากการระดมทุน Crowdfunding ไปต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ Crowdfunding ถือเป็นนวัตกรรมที่สร้างความเท่าเทียมทางการเงิน (Financial Inclusion) และเป็นเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) อีกรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ระดมทุนและนักลงทุนต่างได้พบกัน เปิดโอกาสให้ได้รับเงินทุนก้อนเล็กหลายๆ ก้อนจากผู้ให้ทุนหลายคน มารวมกันเป็นเงินก้อนใหญ่ในที่สุด เงินทุนหมุนเวียน เส้นเลือดหล่อเลี้ยงธุรกิจ เพราะเงินทุนหมนุเวียนช่วยให้ธุรกิจมีเงินเพียงพอในการซื้อสินค้าเพื่อนำมาขาย สต็อกสินค้า มีเงินในการชำระคืนเจ้าหนี้การค้า  รวมถึงการรักษาสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ “ธุรกิจสายป่านสั้นนั้นเสียเปรียบในการแข่งขัน”   ไม่พลาดโอกาสเติบโตให้เต็มศักยภาพระดมทุนกับ PeerPower หากธุรกิจคุณมีคุณสมบัติดังนี้สมัคระดมทุนเลย! สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม นัดหมายปรึกษาได้ที่นี่,  Line: @peerpower หรือ [email protected]